แหล่งข่าวจากวงการการเมือง เปิดเผยว่า ขั้วการเมืองหลักทั้ง 2 ขั้วเริ่มกลับมาเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคักอีกครั้ง หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อแล้ว โดยขั้วพรรคพลังประชารัฐยังคงชูชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่สำหรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แกนนำสำคัญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในนาทีนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะยังคงเข้าร่วมในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่หรือไม่ โดยบางกระแสข่าวระบุว่า พล.อ.ประวิตร ยอมถอยไม่รับตำแหน่ง แต่บางกระแสข่าวก็ยังมีชื่อของ พล.อ.ประวิตร นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีคนสำคัญอยู่
เบื้องต้นการเจรจาของพรรคพลังประชารัฐดึง 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยร่วมเป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อตุนเสียงในมือให้ได้อย่างน้อย 208 เสียงก่อนทยอยดึงพรรคขนาดเล็กเข้าร่วมวงนั้น แกนนำของพรรคพลังประชารัฐยืนยันที่จะดูแลงานกระทรวงหลักใน ครม.ชุดใหม่ โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม
แหล่งข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า นายอุตตม เสาวนายน หัวหน้าพรรคต้องการดูแลงานโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคต้องการเข้าไปดูแลงานหลักของการบริหารราชการส่วนกลางและท้องถิ่นที่กระทรวงมหาดไทย
ส่วนเก้าอี้กระทรวงการคลังเชื่อว่านายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ คงจะไม่ได้กลับมานั่งเก้าอี้เดิมหลังจากช่วงที่ผ่านมาเกิดความขัดแย้งในการทำงานกับนายอุตตม แต่มีการวางตัว รมช.เป็นอดีตประธานบอร์ดในธนาคารเฉพาะกิจภาครัฐไว้แล้วเพื่อผลักดันนโยบายประชารัฐต่าง ๆ ที่ได้หาเสียงเลือกตั้งไว้
แต่สำหรับเก้าอี้ รมว.กลาโหมเป็นโควต้าที่นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งผู้ที่มีความเหมาะสมเข้ามารับตำแหน่ง
ขณะที่กระทรวงที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอตัวเข้ามาดูแลงาน คือ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะที่พรรคภูมิใจไทยคาดว่าจะขอดูแลงานของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่พรรคชูเป็นนโยบายหลักในการหาเสียงเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม การเจรจาเกลี่ยโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ ขณะนี้ยังไม่ลงตัวชัดเจน เพราะนอกจากจะมีพรรคการเมืองอื่นในขั้วเดียวกันเข้ามาร่วมตั้งรัฐบาลแล้ว ยังมีโอกาสที่จะดึง ส.ส.จากอีกขั้วเข้ามาสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐด้วยการเสนอเก้าอี้รัฐมนตรีเป็นการแลกเปลี่ยน จึงเป็นเรื่องที่ยังต้องจับตาดูต่อไป