นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า หลังจาก 11 พรรคเล็กได้ประกาศเจตนารมย์ที่จะมาร่วมทำงานและสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลแล้วส่งผลให้พรรคมีกระแสความนิยมที่ดีขึ้น เพราะทำให้พรรคอื่นได้เห็นศักยภาพของพรรคพลังประชารัฐในการร่วมงานพรรคต่างๆ แต่ไม่สามารถพูดได้ 100%ว่าจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะยังอยู่ระหว่างการพูดคุย ส่วนจะชัดเจนภายในสัปดาห์นี้หรือไม่คงต้องรอดู เนื่องจากมีระยะเวลาของกฎหมายที่กำหนดไว้อยู่แล้ว แต่มั่นใจทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
พร้อมกันนี้ นายอุตตม ยืนยันว่าการทำงานของพรรคมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยการจัดกิจกรรมสัมมนา ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อพรรคที่จัดขึ้นในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำความสามัคคีที่เราจะระดมสมองในการทำงานให้กับประเทศอย่างไร และงานด้านการเมืองเรามีเอกภาพชัดเจน ไม่มีปัญหา
"คะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกพรรคพลังประชารัฐกว่า 8.4. ล้านเสียง สะท้อนความชอบธรรมของพรรคที่จะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากการทำงานในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ทั้งๆ ที่พรรคพลังประชารัฐมีอายุเพียง 6 เดือน เป็นพรรคใหม่พรรคเดียวที่สามารถกวาดที่นั่ง ส.ส.กว่า 100 คน ดังนั้นต้องขอบคุณทุกคนในความสำเร็จครั้งนี้ และเป็นสิ่งที่ทุกคนภาคภูมิใจได้เลยว่าเราจะเดินหน้ารับใช้ประชาชน"
ส่วนตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรที่มีข่าวว่ามีคู่ชิง 2 คน คือ นายสุชาติ ตันเจริญ กับ นายวิรัช รัตนเศรษฐ์ นั้น เรื่องนี้พรรคยังไม่ได้ตัดสินใจ เพราะมีบุคคลากรที่หลากหลายและมีความสามารถให้เลือกจำนวนมาก
พร้อมยืนยันพรรคพลังประชารัฐจะไม่มีปัญหาเรื่องงูเห่า แม้จะเป็นพรรคเกิดใหม่แต่ก็ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน จึงมั่นใจจะไม่เกิดสัตว์เลื้อยคลานภายในพรรคแน่นอน
"การเมืองกำลังเดินหน้าอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาล การประสานหารือที่มีการปล่อยข่าวกันฟุ้งไปหมด ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อวานนี้พรรค พปชร.ก็ได้รับการสนับสนุนจากพรรคเล็ก 11 พรรค แต่เราจะไม่ติดอยู่ในวังวนที่ฝุ่นตลบในทางการเมือง เราจะเดินหน้าริเริ่มนโยบายที่นำเสนอไว้กับประชาขนทันที เพราะเมื่อเราได้เป็นรัฐบาล เราก็จะได้ทำงานทันที ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ จะต้องขับเคลื่อนการทำงานไปพร้อมกัน ส่วนการเมืองปล่อยให้เดินหน้าไป เนื่องจากตนเอง เลขาธิการพรรค และผู้บริหารดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว" นายอุตตม กล่าว
ในวันนี้พรรคพลังประชารัฐ จัดสัมมนาใหญ่ ส.ส.ใหม่ ทั้ง 115 คนพร้อมกับกรรมการบริหารพรรค โดยได้หารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชนและประเทศ พร้อมรับฟังการบรรยายจากศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน และร่วมระดมความคิดเห็นถึงปัญหาของพื้นที่ที่ต้องได้รับการแก้ไข การบริหารและการดำเนินการด้านเศรษฐกิจ การเมือง กฏหมายของพรรคพลังประชารัฐ ในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต ซึ่งบรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคัก มีความพร้อม มุ่งมั่นที่จะช่วยกันทำหน้าที่เป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่อนาคตอันสดใส
นายอุตตม ได้บรรยายเรื่อง "ทิศทางเศรษฐกิจไทย กับนโยบายพลังประชารัฐ" และโชว์วิสัยทัศน์ของพลังประชารัฐที่จะแก้ไขปัญหา ขับเคลื่อนปฏิรูปเศรษฐกิจ ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวและมีความผันผวนมากขึ้น โดยเน้น 3 กลุ่มภารกิจเร่งด่วน คือ (1) การเพิ่มกำลังซื้อด้วยเศรษฐกิจฐานราก (2) การปลดล็อคอุปสรรค เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ (3) การสร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ และโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับประเทศไทยจากเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนชะลอตัว และสอดรับกับแนวนโยบายหลักของพรรคพลังประชารัฐที่เน้น "ประชารัฐสร้างคน คนสร้างชาติ และประเทศไทยต้องรวย ด้วยพลังประชารัฐ" และ "ทำได้จริง ทำทันที"
นายอุตตม กล่าวว่า ความท้าทายหลักของไทยใน 2 ปีข้างหน้ามาจากโลกที่ผันผวนมากขึ้น จากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าหลักของไทย จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ตลอดจนจากราคาสินค้าเกษตรโลกที่ตกต่ำต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมด ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 62 ที่ติดลบ 3.6% จากการหดตัวของการส่งออกในเกือบทุกอุตสาหกรรม และกระทบกับการส่งออกของประเทศอื่นๆ ในเอเชียเช่นกัน
ทั้งนี้ ปัญหาจากภายนอกประเทศ ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ ดังจะเห็นได้จากดัชนีการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มโตช้าลง และการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจลงของหน่วยงานหลักของภาครัฐ
อย่างไรก็ดี แม้ความผันผวนความท้าทายจะมากขึ้น เสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยโดยรวมมีความเข้มแข็ง มีการว่างงานต่ำ อัตราเงินเฟ้อต่ำ เงินสำรองระหว่างประเทศสูง และมีหนี้สาธารณะที่ต่ำกว่าเพดาน ทำให้รัฐบาลมีความสามารถที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้
โดยกลุ่มภารกิจเร่งด่วนแรก จะมี"การเพิ่มกำลังซื้อด้วยเศรษฐกิจฐานราก" โดยเร่งดูแลราคาสินค้าเกษตรหลัก เช่น ข้าว ยาง มัน ปาล์ม อ้อย การลงทะเบียนบัตรประชารัฐรอบใหม่ การพักหนี้กองทุนหมู่บ้าน 3 ปี บ้านล้านหลัง ท่องเที่ยวประชารัฐ SME และโชว์ห่วยประชารัฐ รวมทั้งการขับเคลื่อนโครงการมารดาประชารัฐ
กลุ่มภารกิจเร่งด่วนที่สอง "การปลดล็อคอุปสรรค เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ" งานสำคัญประกอบด้วย นโยบาย สปก 4.0 การทบทวนกฏหมายระเบียบที่ไม่จำเป็น การทบทวนโครงสร้างอัตราภาษี และการคืนที่ค้าขายให้พ่อค้าแม่ค้าในเมือง เป็นต้น
กลุ่มภารกิจเร่งด่วนสุดท้าย "การสร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต" ประกอบด้วย การเร่งการลงทุนขนาดใหญ่เพื่ออนาคต เช่น EEC SEC ขยายผลไปยัง NEC การสร้าง Smart Cities การยกระดับทุนมนุษย์ เพิ่มค่าจ้างตามทักษะ รวมถึงกองทุนตั้งตนสร้างอาชีพ และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม S-curve และเศรษฐกิจดิจิตัล
"พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่มีส.ส. มาจากทุกภาคของประเทศไทยอย่างสมดุล มีทั้งส.ส. ใหม่และส.ส. ที่เคยมีประสบการณ์ในช่วงที่ผ่านมาในสัดส่วนประมาณ 70:30 และมีทั้งผู้อาวุโสและคนรุ่นใหม่ ทำให้สามารถนำความรู้ประสบการณ์ที่มีในอดีต มาผสมผสานกับมุมมองของส.ส.ใหม่ และคนรุ่นใหม่ในการนำเสนอนโยบายที่เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ"