นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าว 3 เหตุผลที่ควรหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมทวงถามจุดยืนของพรรคการเมืองต่างๆ ว่าจะร่วมรัฐบาลกับพรรคที่สืบทอดอำนาจ คสช. ทั้งที่มีนโยบายขัดกับที่หาเสียงไว้กับประชาชนหรือไม่
นายธนาธร ระบุเหตุผลข้อแรกว่ามีการใช้ภาษีของประชาชนอย่างมหาศาลเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนที่ใกล้ชิด คสช. เช่นกรณีของ บมจ.การบินไทย (THAI) โดยมีการผลักดันแผนเช่า/ซื้อเครื่องบิน 38 ลำ มูลค่ากว่า 150,000 ล้านบาท ในสภาวะที่การบินไทยขาดทุนสะสมมาอย่างยาวนาน มีหนี้สินสะสมแล้วกว่า 150,000 ล้านบาท
รวมถึงกรณีการใช้มาตรา 44 ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล และยืดการชำระหนี้ของกลุ่มทุนโทรคมนาคมรายใหญ่ 3 ราย ทั้งสองกรณี รวมเป็นมูลค่ากว่า 23,664 ล้านบาท ซึ่งเป็นโอกาสที่กลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มในประเทศไทยได้รับ
นอกจากนี้ ยังมีกรณีการทำสัญญาสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินที่ให้สัมปทานเอื้อกลุ่มทุนเดิม คือกลุ่มคิงเพาเวอร์ ทำให้มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นถึง 1.55 แสนล้านบาทภายใน 12 ปีหลังได้สัมปทานครั้งแรก หรือคิดเป็นความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นถึง 32 เท่า ซึ่งสัมปทานฉบับเดิมกำลังจะหมดอายุลง ขณะที่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ออก TOR ให้กลุ่มทุนเดิมได้เปรียบ เช่น การให้คะแนนความสามารถด้านเทคนิคมากกว่าผลประโยชน์ส่งรัฐ, การมัดรวมสัญญาสัมปทานสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินภูมิภาคในช่วงแรกของการเปิดประมูล, การให้สิทธิสัมปทานยาวนานถึง 10 ปีและต่อได้ถึง 14 ปี และการให้ผู้ชนะได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วผลประโยชน์ที่ประเทศได้จากค่าธรรมเนียมสัมปทานน้อยกว่าสนามบินชั้นนำอื่นๆถึงครึ่งต่อครึ่ง
รวมถึงกรณีสัมปทานรถไฟ 3 สนามบิน ที่ให้แก่กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ซึ่งเต็มไปด้วยเงื่อนไขที่น่าสงสัย เช่น การประมูลที่รวมการพัฒนาที่ดินรอบสถานี โดยเฉพาะที่ดินผืนใหญ่ คือ ที่ดินมักกะสัน, การให้เอกชนออกเงินน้อยกว่ารัฐ ขณะที่เงื่อนไขสัญญาและการเจรจาทั้งหมดถูกปิดเป็นความลับ แต่มีข้อมูลหลุดมาว่าข้อเสนอเพิ่มเติมในซองที่ 4 มีหลายประการที่จะทำให้ภาครัฐเสียประโยชน์
เหตุผลประการที่สอง หลังประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งไม่นาน ได้มีการผ่านกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดตั้งและเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับที่มีผลบั่นทอนการกระจายอำนาจ เช่น การให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอมีอำนาจเรียกชี้แจง แนะนำ ตักเตือน สั่งเพิกถอนการกระทำ หรือให้ผู้บริหารท้องถิ่นหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ได้ การทำลายความเป็นอิสระของท้องถิ่น ด้วยการกำหนดให้การบริการสาธารณะและการเบิกจ่ายงบประมาณต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย และการลดความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น
ซึ่งต่อกรณีนี้ นายธนาธรระบุว่าในการเลือกตั้งที้ผ่านมา ทุกพรรคการเมืองต่างพูดเรื่องการกระจายอำนาจและการลดอำนาจราชการรวมศูนย์ แต่ที่น่าสังเกตคือทุกวันนี้พรรคการเมืองที่พูดเรื่องเหล่านี้หลายพรรค กลับจะไปร่วมรัฐบาลกับกลุ่มคนที่ออกนโยบายผลักดันการรวมศูนย์อำนาจ ตนจึงต้องทวงถามไปที่พรรคการเมืองเหล่านี้ว่าตกลงแล้วพวกคุณสนับสนุนการกระจายอำนาจจริงหรือไม่
ประการที่สาม เร็วๆ นี้ได้มีการออกกฎหมายอีก 2 ฉบับ ที่มีผลลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน คือ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ และการแก้ไข พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ โดยมีเนื้อหาที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสามารถเจาะระบบเข้าดูข้อมูลของประชาชนได้ หากเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งการตีความคำว่าภัยความมั่นคง เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่สามารถตีความได้อย่างแทบจะอิสระ
นายธนาธร กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนราษฎรในสภา เราผลักดันวาระต่างๆด้วยกลไกช่องทางต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกระทู้ถาม การใช้ช่องทางของกรรมาธิการต่างๆ ซึ่งนี่คือสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่จะทำต่อไปในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ทั้งนี้ สิ่งที่ตนต้องการเน้นย้ำเป็นพิเศษ ไม่ใช่การทวงถามไปถึงพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นตัวผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน ว่าด้วยเหตุผลเหล่านี้ พวกคุณจะยืนยันปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่ และพวกคุณจะสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.ที่ทำเรื่องเหล่านี้จริงๆหรือไม่