เลือกตั้ง'62: "อนุทิน" นำส.ส.ภูมิใจไทยเข้ารายงานตัว ย้ำให้รอมติพรรค 20 พ.ค.ชัดเจนร่วมรัฐบาลฝ่ายไหน ปัดตั้งรบ.ขั้วที่ 3

ข่าวการเมือง Thursday May 16, 2019 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ยืนยันพรรคจะตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับแกนนำพรรคการเมืองใดในวันที่ 20 พ.ค.นี้ตามที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นช่วงที่พรรคจัดสัมมนาปฐมนิเทศ ส.ส.ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการติดต่อจากพรรคการเมืองใดอย่างเป็นทางการ

"วันที่ 20 พ.ค.จะประชุม ส.ส. ประชุมกรรมการบริหารพรรค เพื่อขอฉันทานุมัติ รับฟังท่าที ส.ส.ที่เขาไปฟังประชาชนมา วันที่ 20 พ.ค.คงจะมีท่าทีที่ชัดเจน เพื่อจะขอฉันทานุมัติให้หัวหน้าพรรคตัดสินใจ เลขาพรรคมีสิทธิตัดสินใจต่างๆ ในเรื่องท่าทีของพรรคภูมิใจไทย" นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน ย้ำเจตนารมณ์ของพรรคในการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลว่า จะตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่มีความขัดแย้ง และตั้งใจทำงานเพื่อประชาชน

อย่างไรก็ตาม นายอนุทิน ปฏิเสธเรื่องการต่อรองตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรีมาเป็นปัจจัยเข้าร่วมรัฐบาล หลังจากมีกระแสข่าวว่า พรรคต้องการกระทรวงคมนาคมถึงจะร่วมรัฐบาล ซึ่งยังแปลกใจว่า มีการจัดสรรกระทรวงให้กับพรรคภูมิใจไทย ทั้งๆที่ยังไม่ได้คุยกับแกนนำพรรคใด แต่ยอมรับว่าได้โทรศัพท์พูดคุยแสดงความยินดีกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ แต่ยังไม่ได้พูดคุยนายจุลินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ฝากแสดงความยินดีหลังได้รับตำแหน่งไปแล้ว

พร้อมปฏิเสธเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลขั้วที่ 3 เพราะเป็นมารยาทที่ต้องให้พรรคที่มีคะแนนเสียงสูงสุดเป็นคนจัดตั้งรัฐบาลก่อน โดยไม่มองถึงการเป็นนายกรัฐมนตรีขั้วที่ 3

นายอนุทิน ย้ำว่า พรรคภูมิใจไทย ได้คะแนนเสียงเป็นลำดับ 5 ไม่มีสิทธิที่จะเป็นคนจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งการจะร่วมกับพรรคใดก็ต้องทำอย่างเปิดเผย และต้องฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เลือกพรรคภูมิใจไทย

"ผมพรรคอันดับ 5 ต้องรู้ตัวเอง ต้องเจียมเนื้อเจียมตัว ตราบใดยังไม่มีการติดต่ออย่างเป็นทางการ เราต้องคิดของเรา คิดหนักมาก ยอมรับมีความกดดันหนักมาก เพราะว่า เล่นถึงเรื่องประชาธิปไตยกับเผด็จ คนกลางๆอย่างพรรคภูมิใจไทยถือว่ากดดัน ต้องฟังทุกๆฝ่าย..." นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า เมื่อประชาชนตัดสินเลือกพรรคการเมืองใดแล้วก็ไม่ควรมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอีกต่อไปในเรื่องของระบอบประชาธิปไตย แต่การตัดสินใจว่าจะทำงานการเมืองด้วยกันอย่างไรถือว่าเป็นเรื่องพูดคุยกันได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ