นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีสูตรคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่งผลให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่หายไป 7 ที่นั่ง โดยผู้ร้องทั้ง 7 คน ประกอบด้วย 1.นายมานพ คีรีภูวดล 2.นายสหัสชัย อนันตเมฆ 3.นายบุญรวี ยมจินดา 4.นายเทวฤทธิ์ นิกรเทศ 5.นายวัสพงศ์ วิทูรเมธา 6.น.ส.อิสราวดี ยะอิน และ 7.นายสาธิต ปิติวรา
รวมทั้งยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ กกต.ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กกต.เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
ทั้งนี้ ผู้ร้องทั้ง 7 คน เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ลำดับที่ 53-59 ตามลำดับ โดยการที่ผู้ร้องทั้ง 7 ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อนั้น เป็นการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นสิทธิทางการเมือง และสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองในฐานะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของผู้ร้องทั้ง 7 ที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 97 ประกอบมาตรา 83 (2) ซึ่งเป็นสิทธิทางการเมืองของพลเมือง ซึ่งสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 25
หากกกต. ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ถกต้อง เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 ย่อมส่งผลให้ผู้ร้องทั้ง 7 คน ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่
แต่การที่ กกต. ได้กระทำการไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 ย่อมส่งผลโดยตรงต่อสิทธิของผู้ร้องทั้ง 7 คน ทำให้ผู้ร้องทั้ง 7 มิได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ จึงเป็นการกระทบสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิทางการเมืองและสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยปริยาย
นอกจากนี้ การที่ กกต.มีอำนาจในการใช้และตีความกฎหมาย ก็มิได้หมายความว่าจะสามารถใช้และตีความกฎหมายตามอำเภอใจได้ เนื่องจากลำดับขั้นตอนในการคำนวณทางคณิตศาสตร์นั้น มีความสำคัญที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของผลลัพธ์เป็นอย่างมาก การพิจารณาคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะต้องเป็นไปตามมาตรา 128 (4) เสียก่อน โดยเมื่อได้คำนวณตามมาตราดังกล่าวแล้วเท่านั้น กกต.จึงจะสามารถพิจารณาคำนวณตามมาตรา 128 (5), (6) และ (7) ต่อไปได้ ดังนั้นการละเว้นไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 128 (4) จึงมิชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการกระทำที่มุ่งหวังให้เกิดผลลัพธ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่แตกต่างไปจากผลลัพธ์ตามปกติหากได้ดำเนินการคำนวณอย่างถูกต้อง
อีกทั้งการใช้และตีความกฎหมายของ กกต. ทำให้พรรคการเมือง 11 พรรค ได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเกินจำนวน ส.ส.พึงมี อันถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างชัดแจ้ง
การกระทำของ กกต.เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ร้องทั้ง 7 ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ลำดับที่ 53-59 ทำให้ผู้ร้องทั้ง 7 คนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย...อาศัยเหตุและผลที่ได้ร้องเรียนข้างต้น จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยดังต่อไปนี้
1. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.ที่ได้รับมาโดยวิธีการคำนวณตามหลักเกณฑ์ เฉพาะส่วนที่เป็นการได้มาซึ่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 91 รวมทั้งสิ้น 11 พรรคการเมืองนั้น สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.62 เป็นต้นไป โดยมีรายนามดังนี้
1. นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ พรรคประชาภิวัฒน์ 2. นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ พรรคไทยศรีวิไลย์ 3. นายคทาเทพ เตชะเดชเรืองกุล พรรคพลังไทยรักไทย 4. นายปรีดา บุญเพลิง พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 5. พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ พรรคประชานิยม 6. นายพิเชษฐ สถิรชวาล พรรคประชาธรรมไทย 7. นายไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคประชาชนปฏิรูป 8. น.ส.ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ พรรคพลเมืองไทย 9. นายสุรทิน พิจารณ์ พรรคประชาธิปไตยใหม่ 10.นายระวี มาศฉมาดล พรรคพลังธรรมใหม่ 11.นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค พรรคไทรักธรรม
2. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดคำบังคับให้ กกต.นำหลักเกณฑ์การคำนวณที่ผู้ร้องทั้ง 7 คนระบุไว้ ไปใช้เป็นหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองเสียใหม่
3. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ กกต.ประกาศรับรองรายชื่อผู้ร้องทั้ง 7 คน เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ โดยกำหนดผลบังคับตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.62 เป็นต้นไป
"ขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้เสียสิทธิทั้งสองช่องทาง เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย โดยหวังว่าผู้ตรวจการจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว เหมือนกรณีเดียวกันก่อนหน้านี้" นายปิยบุตรกล่าว
เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า การที่ กกต.คำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยให้ 11 พรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่าจำนวนส.ส.พึงมี หรือต่ำกว่า 71,054 คะแนนได้รับการจัดสรรตำแหน่ง ทำให้คะแนนของพรรคอนาคตใหม่ถูกทิ้งน้ำไป 561,276 คะแนน เสียที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไป 7 ที่นั่ง จากที่ควรได้ 87 ที่นั่ง แต่เหลือเพียง 80 ที่นั่ง ดังนั้นผู้สมัครของพรรคที่ควรได้เป็น ส.ส.จึงถูกผลกระทบสิทธิโดยตรง
นอกจากนี้ เมื่อรวมกับคะแนนของพรรคการเมืองอื่นที่ควรได้รับการจัดสรร ส.ส. กลับถูกทิ้งไปถึง 1,263,759 คะแนน ขณะที่ 11 พรรคเล็กที่ได้รับการจัดสรร ส.ส. เมื่อนำคะแนนมารวมกันมีเพียง 540,000 กว่าคะแนนเท่านั้น
"ถ้าบอกว่าทุกคะแนนมีความสำคัญ หากได้คะแนนต่ำกว่า 7.1 หมื่นแล้วไม่ได้ เป็นการรังแกพรรคเล็ก ถ้าไม่มีกฎกติกา ทุกพรรคที่ส่งเลือกตั้งก็ต้องได้ ส.ส. ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล" นายปิยุบุตร กล่าว
เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า การดำเนินการของ กกต. เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดกับรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยให้นำหลักเกณฑ์การคำนวณที่มีเพียง 16 พรรคได้รับการจัดสรร ส.ส. และให้สั่ง กกต.ประกาศรับรองให้ผู้สมัครของพรรคทั้ง 7 คน ได้เป็น ส.ส.ด้วย
"อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เกิดความชัดเจน เพราะถือเป็นโอกาสแรกที่จะยืนยันว่าสูตรของ กกต.ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เรื่องนี้จะได้ชัดเจน จะได้ใช้เป็นบรรทัดฐานต่อไป" นายปิยบุตร กล่าว