นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรองประธานบริหารบริษัท ไทยซัมมิท ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ร่วมกับนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ร่วมอุดมการณ์อีก 24 คน ยื่นจดแจ้งชื่อจัดตั้งพรรคต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 และได้รับการับรองจาก กกต.ให้มีสถานะเป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561
ต่อมาในวันที่ 27 พฤษภาคม 2561 พรรคอนาคตใหม่ได้จัดการประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 1 ที่ยิมเนเซียม 5 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตเพื่อรับรองอุดมการณ์พรรค นโยบายพรรค ข้อบังคับพรรค ชื่อพรรค ชื่อย่อพรรค และเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดแรก
วันที่ 1 ตุลาคม 2561 นายธนาธร เปิดตัวพรรคอย่างเป็นทางการ แถลงวิสัยทัศน์ ประกาศความพร้อมที่จะทำงานในตำแน่งนายกรัฐมนตรี และพร้อมทำงานร่วมกับทุกพรรคภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน โดยยึดหลักการคือ ไม่เอาการสืบทอดอำนาจจาก คสช.ในทุกรูปแบบ และจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ล้มล้างผลพวงรัฐประหาร
วันที่ 6 ตุลาคม 2561 พรรคอนาคตใหม่เปิดรับสมัครสมาชิกใหม่อย่างเป็นทางการวันแรก บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจร่วมสมัครสมาชิกพรรค
และเมื่อ 16 ธันวาคม 2561 พรรคอนาคตใหม่ เปิดวิสัยทัศน์"เปลี่ยนอนาคต" โดยนำเสนอนโยบายของพรรค โดยชู 3 นโยบายรากฐานมุ่งจัดการปัญหา 3 ด้าน คือ คน ทรัพยากร และความรู้
วันที่ 8 พฤษภาคม 2562 กกต.ประกาศให้พรรคอนาคตใหม่ได้รับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต 30 ที่นั่ง และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 50 ที่นั่ง ถือว่าสอบผ่านเข้ามาอย่างถล่มทลายเหนือความคาดหมาย หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยมีนายธนาธรเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 และเป็นผู้ที่พรรคอนาคตใหม่เสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ในระหว่างทางนายธนาธร ถูกดำเนินคดีหลายคดี โดยวันที่ 27 ก.พ.เข้าพบอัยการสูงสุด (อสส.) ในจากกรณีถูกคณะทำงานฝ่ายกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แจ้งความดำเนินคดีฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) กรณีจัดรายการ"คืนวันศุกร์ให้ประชาชน"กรณีไลฟ์สดวิจารณ์พลังดูด เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561
วันที่ 3 เมษายน 2562 ถูกหมายเรียกตามความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 116 (ยุยง ปลุกปั่น) มาตรา 215 (ชุมนุมมั่วสุม) รวมถึงมาตรา 189 (ให้ที่พักพิงผู้ต้องหา)
วันที่ 23 เมษายน 62 สำนักงาน กกต.แจ้งข้อกล่าวหานายธนาธร เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 98 (3) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) อันเป็นกระทำการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง กรณีถือหุ้นวี ลัค มีเดีย จำกีด
และล่าสุดวันนี้ (23 พฤษภาคม 2562) ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับวินิจฉัยคำร้อง กกต.กรณีคุณสมบัติของนายธนาธรที่ถือหุ้นสื่อในขณะที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.พร้อมให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.นจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยคุณสมบัติ เป็นอันว่านายธนาธรถูกสกัดเส้นทางเข้าสู่สภาฯ ไว้เพียงแค่นี้ หลังจากก้าวเข้ามาสู่การเมืองไทยได้เพียงปีเศษเท่านั้น