"วันนี้ผมและคณะมาเรียนเชิญพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นทางการ ให้เข้ามาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเดินหน้าประเทศไทย เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนตามที่พรรคของเราได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ นี่คือวัตถุประสงค์หลักที่มาวันนี้ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามธรรมเนียมประเพณีทางการเมืองที่ทำมาโดยตลอด"นายอุตตม กล่าว
ส่วนจะมีการพูดคุยเรื่องการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยหรือไม่นั้น นายอุตตม กล่าวว่า ยังไม่คุยในรายละเอียด เพราะวันนี้ถือเป็นพิธีการสำคัญที่มาพบกัน ส่วนในเรื่องของรายละเอียดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่แต่ละพรรคร่วมมีนโยบาย ก็คงจะได้มาพูดคุยกันในลำดับต่อๆ ไปว่านโยบายนั้นจะมาร่วมกันทำจะขับเคลื่อนกันอย่างไร การแบ่งงานในแต่ละกระทรวงจะทำอย่างไรเป็นสิ่งที่พูดคุยกันได้
"ต้องให้สอดรับกัน เราทำในครั้งนี้ เรามีนโยบายด้วยกันทั้งนั้น เรามีกำลังคน มีคนเก่งๆ เราก็สามารถจะมาพูดจาคุยกันได้ในพรรคร่วม" นายอุตตม ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่าการพูดคุยกันครั้งนี้มีข้อตกลงหรือไม่ว่าต้องสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง นายอุตตม กล่าวว่า ในครั้งนี้ถ้าจะเป็นพรรคร่วมแล้ว ก็คาดหวังว่าพรรคเราจะได้รับการสนับสนุนจากพรรคร่วมทั้งหมดในการโหวต รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ด้วย
ส่วนการร่วมรัฐบาล จะแยกออกจากการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี หรืออยู่ในเงื่อนไขว่าหากร่วมรัฐบาลต้องสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ด้วยนั้น นายอุตตม กล่าวว่า คิดว่าพรรคร่วมก็คงเข้าใจกันดีว่าถ้ามาร่วมงานด้วยกัน เราจะสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างไรในขั้นตอนที่เหลือ
ผู้สื่อข่าวถามถึงการแก้ไขปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐที่เสียงไม่มีเอกภาพจากภาพที่เห็นในช่วงเปิดประชุมสภาฯ นั้น หัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไรรุนแรง ซึ่งถือเป็นธรรมดาเพราะไม่ได้เลือกตั้งกันมา 5 ปี ก็ต้องใช้เวลาหารือกัน แต่วันนี้ขอเรียนว่าพรรคเราเป็นทิศทางเดียวกัน เดินหน้าไปด้วยกัน มีอะไรหรือมีความเห็นที่แตกต่างกันบ้างเป็นเรื่องที่ปกติมาก
เมื่อถามว่าจากการโหวตเลือกประธานสภาฯ พบว่ามี 5 เสียง ที่ไปโหวตให้อีกฝั่งจนทำให้แพ้ญัตติเลื่อนประชุมเพื่อเลือกประธานสภาฯ ออกไป ซึ่งหากเป็นเช่นนี้รัฐบาลปริ่มน้ำจะอยู่ได้อย่างไรนั้น นายอุตตม กล่าวว่า เป็นเรื่องที่จะต้องไปบริหารจัดการกันพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมทั้งหลาย ถ้าทุกคนมีเจตนาที่แน่วแน่ที่จะทำงานให้ประเทศชาติ แล้วดำเนินการในสิ่งที่ถูกต้อง ตนเชื่อว่าไม่ว่าจะคะแนนเป็นอย่างไร ก็จะบริหารจัดการกันไปได้
"เรามีความมั่นใจ เพราะต้องให้โอกาสและเชื่อใจกัน เล็กๆ น้อยๆ ก็มีบ้าง ถือเป็นธรรมดาของการเมือง แต่ประเด็นใหญ่คือถ้าเราจับมือด้วยกันมันก็จะเดินหน้าไปด้วยกันได้" นายอุตตมระบุ
ส่วนที่จะถูกมองภาพของการเมืองว่ามีเรื่องค่าตัวเข้ามาเกี่ยวข้องและทำให้การเมืองเสื่อมนั้น นายอุตตม กล่าวว่า เป็นการคาดการณ์กันไป ขอให้รอดูเมื่อถึงเวลานั้นที่มีรัฐบาล เพียงแต่วันนี้ยังต้องรอการลงคะแนนในส่วนของนายกรัฐมนตรีในการจัดตั้งรัฐบาล และขอให้ขั้นตอนนี้เสร็จสิ้นก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า สามารถพูดได้หรือไม่ว่ารัฐบาลปิดดีล 20 พรรคการเมืองแล้ว นายอุตตม กล่าวว่า วันนี้อยู่ในกระบวนการที่เราหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากพรรคร่วมทั้งหลายที่ได้แสดงความสนใจมาแล้ว ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำได้ แต่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากพรรคร่วมทั้งหลายด้วย
พร้อมระบุว่า ไม่ได้ติดใจกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์เคยหาเสียงว่าไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
"เอาเป็นว่าเรื่องนี้ผ่านพ้นไปแล้ว วันนี้เราอย่าไปติดใจอะไรกัน อย่าไปสร้างเงื่อนไขใหม่ วันนี้เป็นนิมิตรหมายที่ดีแล้วที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน ก็ขอให้เป็นอย่างนั้น" หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐกล่าว และเชื่อว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีคงจะไม่ช้า ซึ่งคาดว่าน่าจะได้มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ภายในเดือนนี้ ด้านนายเฉลิมชัย กล่าวถึงกรณีแกนนำพรรคพลังประชารัฐ เดินทางมาเชิญพรรค ปชป. เพื่อให้เข้าร่วมรัฐบาลนั้นว่า เป็นเพียงพิธีกรรมทางการเมือง แต่การตัดสินใจต้องผ่านการพิจารณาของที่ประชุมร่วมกรรมการบริหารและ ส.ส.ของพรรค
เลขาธิการพรรค ปชป.กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการต่อรองเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะเพิ่งจะมาทาบทาม และการตัดสินใจว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้นต้องให้ที่ประชุมร่วมกรรมการบริหารและ ส.ส.พรรคในเย็นวันพรุ่งนี้ (28 พ.ค.) ตัดสินใจ
ส่วนกรณีที่นายชวน หลีกภัย ได้รับการสนับสนุนจากพรรค พปชร.ให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการต่อรอง เพราะต้องแยกแยะเรื่องงานฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร
"ผมมีแค่เสียงเดียว การตัดสินใจขึ้นอยู่กับที่ประชุม ซึ่งจะมีผลต่ออนาคตของพรรค ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรก็ต้องมีเหตุผลรองรับ" นายเฉลิมชัย กล่าว