นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงว่า ที่ประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.พรรค มีมติเสียงข้างมากที่จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐ ยอมรับในเงื่อนไขสำคัญทั้ง 3 ข้อที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอไป ประกอบด้วย 1.นโยบายแก้จน สร้างคนสร้างชาติ ด้วยการนำการประกันรายได้เกษตรกรบรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาล 2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตย และ 3.การบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
"ประชาธิปัตย์ ยังได้แจ้งด้วยว่า หากผิดจากเงื่อนไขดังกล่าว พรรคสามารถสงวนสิทธิ์เพื่อทบทวนการเข้าร่วมรัฐบาลในอนาคตได้" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ
พร้อมกันนี้ พรรคประชาธิปัตย์ยังมีมติที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามการเสนอของพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เช่นเดียวกับที่พรรคพลังประชารัฐ สนับสนุนนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร
ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อออกมาเป็นมติพรรคแล้ว สมาชิกคงจะทำตามมติ ไม่มีการแตกแถว ส่วนการเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำไม่ใช่เป็นปัญหา เพราะต้องขึ้นอยู่กับการทำงานด้วย อีกทั้งจากนี้ไป พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องพร้อมถูกตรวจสอบตามวิถีทางประชาธิปไตยด้วย
"เมื่อเรามีมติจะร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ เราก็ต้องปฏิบัติตามมติของพรรคที่เราจะร่วมรัฐบาล...พล.อ.ประยุทธ์ นับจากนี้ต้องเป็นนายกรัฐมนตรี ที่พร้อมจะถูกตรวจสอบได้ตามวิถีทางประชาธิปไตย...พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีสิทธิได้รับข้อยกเว้นใดๆ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุ
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ วันนี้ได้นำหลายปัจจัยมาพิจารณาประกอบ ทั้งอุดมการณ์พรรค ท่าทีอดีตหัวหน้าพรรค (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ที่ประกาศตอนหาเสียง ความต้องการของประชาชน ผ่าน ส.ส.แต่ละพื้นที่ รวมทั้งนโยบายที่พรรคได้หาเสียงไว้ว่าจะทำให้เกิดผลจริงจังได้อย่างไร
"วันนี้ไม่ว่าจะตัดสินทางใดจะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ทั้งบวกและลบ แต่คำนึงถึงประเทศให้หลุดพ้นความไม่แน่นอนทางการเมือง ให้มีรัฐบาลเสียงข้างมาก มีการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน การจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วเพื่อปิดสวิตช์ คสช. และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการสะเดาะกุญแจ เพราะเงื่อนไขเดิมไม่สามารถดำเนินการได้เลย"หัวหน้า ปชป.ระบุ
ส่วนกรณีที่มีสมาชิกพรรคประกาศลาออก ภายหลังประชาธิปัตย์ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐนั้น ยอมรับว่าการตัดสินใจอย่างไรก็มีผลทั้งทางบวกและลบ แต่พรรคจะดูแลสมาชิกทุกคน และหวังว่าผู้สนับสนุนพรรคจะกลับมาเหมือนในอดีตที่ 11.5 ล้านคน
สำหรับการจัดโผรายชื่อคณะรัฐมนตรีนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า เป็นธรรมดาที่นายกรัฐมนตรีคงจะต้องขอดูรายชื่อ แต่คิดว่าคงไม่มีการปรับเปลี่ยน เพราะในแต่ละพรรคจะต้องมีการคัดเลือกกันมาอย่างดีแล้ว ส่วนการจัดสรรที่อาจไม่ลงตัวและทำให้เกิดปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐนั้น ถือเป็นเรื่องภายในของพรรค ทางประชาธิปัตย์คงไม่ขอเข้าไปก้าวล่วง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ มีขึ้นตั้งแต่เวลาประมาณ 14.00 น. - 19.00 น. รวมประมาณ 5 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น