สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เริ่มการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เพื่อพิจารณาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป โดย ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ขณะที่ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เสนอชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาลงคะแนนเสียงคัดเลือก โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา
หลังจากนั้นสมาชิกรัฐสภาได้สลับสับเปลี่ยนกันอภิปรายในประเด็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ถูกเสนอชื่อ ซึ่งขณะนี้ผ่านมาเป็นเวลามากกว่า 5 ชั่วโมงแต่ยังไม่สามารถเข้าสู่ขั้นตอนการออกเสียงลงมติได้ โดยการอภิปรายถึงความเหมาะสมของคุณสมบัติผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 2 รายยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการประท้วงเป็นระยะ
สมาชิกรัฐสภาหลายรายระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ ขาดคุณสมบัติต่อการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(15) โดยนายขจิต ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า พล.อ.ประยุทธ์มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือพนักงานอื่นของรัฐ อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หัวหน้าพรรคเกียน ยื่นต่อศาลกรณีไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่คำตัดสินของศาลระบุว่านายสมบัติต้องไปรายงานตัวตามคำสั่ง เพราะเป็นคำสั่งที่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีอำนาจ รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ ยังรับเงินเดือนประจำ
นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง กรณีที่ระบุในคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีจะต้องเลื่อมใสในระบอบปกครองประชาธิปไตย แต่ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจจากประชาชนและฉีกรัฐธรรมนูญ
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าว่า ส.ส.จาก 7 พรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตยไม่สามารถเห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง มีผลประโยชน์ขัดกันเพราะใช้อำนาจตั้ง ส.ว.รวมถึงการบริหารราชการที่ผ่านมาพบความล้มเหลว ใช้การบริหารงานแบบรัฐราชการศูนย์กลาง ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ขณะเดียวกันคุณลักษณะที่จะต้องมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์นั้นพบว่าในภาพกว้าง พล.อ.ประยุทธ์ บริหารราชการที่กระทบกับประโยชน์ประเทศและประชาชน
ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพราะคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าถือว่าเป็นความผิดฐานกบฎตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 แต่ต่อมาได้เขียนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 นิรโทษกรรมให้กับตนเอง ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาร่วมลงมติไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อยุติการสืบทอดอำนาจ และป้องกันเหตุการณ์โศกนาฏกรรมทางการเมือง เหมือนเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 ขณะที่ ส.ว. ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแล้วถือว่าเป็นอิสระ ขอให้ใช้โอกาสทองลงมติไม่เลือก พล.อ.ประยุทธ์
ขณะที่ฝั่งสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จากพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.อภิปรายรับรองคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากองค์กรอิสระ พร้อมสนับสนุนการให้ดำรงตำแหน่งต่อไป เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารราชการแผ่นดินและสามารถทำงานได้ต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีผลงานหลายด้านที่สามารถผลักดันได้สำเร็จในช่วงทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี เช่น สามารถระบายสต๊อกข้าวได้หมด หรือ ผลักดันโครงการรถไฟฟ้าได้สำเร็จหลายสาย
นอกจากนั้นยังมีการอภิปรายไม่สนับสนุนนายธนาธรเป็นนายกฯ เพราะคุณสมบัติไม่ครบ โดย พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า หากรัฐสภาเลือกนายธนาธรเป็นนายกฯ จะมีความวุ่นวาย เนื่องจากมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ในสภาฯ
นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีความเป็นผู้นำสูง มีความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ และไม่เคยแบ่งฝักฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามากอบกู้สถานการณ์ที่ไม่ปกติในช่วงที่เกิดความขัดแย้ง ทำให้ประเทศไทยมีความสงบเรียบร้อยตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ติดดิน ประชาชนเข้าถึง พึ่งได้ และไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนไหนเข้าไปถึงในตรอกซอกซอย เข้าไปสัมผัสชีวิตของคนในสลัมคลองเตย เข้าไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ยังดำเนินนโยบายและโครงการใหญ่ๆ ให้กับประเทศ พร้อมขอร้องอย่าสร้างวาทกรรมสืบทอดเผด็จการ เพราะทุกคนเข้ามาในกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย
นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า จุดเด่นของ พล.อ.ประยุทธ์ คือมีความพร้อมปฏิบัติงาน และหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ต้องจัดทัพใหม่ ไม่ต้องมีการโยกย้ายข้าราชการใหม่ สามารถปฏิบัติงาน แก้ไขปัญหาให้ของประเทศ และประชาชนได้ทันที โดยยอมรับว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพราะที่ผ่านมาเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ
การประชุมร่วมรัฐสภา ยังคงมีการอภิปรายเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เวลา 11.00 น. จนถึงขณะนี้ โดยสมาชิกส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ส่วนใหญ่ต่างออกมาสนับสนุนและยืนยันว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคุณสมบัติเหมาะสมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และไม่ถือว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ ขณะที่ส.ส.พรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ ต่างระบุว่าพล.อ.ประยุทธ์ ขาดคุณสมบัติเพราะเป้นเจ้าหน้าที่รัฐ และมีพฤติกรรมที่ขัดกับมาตรฐานทางจริยธรรม
นายสันติ กีระนันท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลที่เหมาะสมและมีวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำ ผ่านการสร้างยุทธศาตร์ประเทศ 20 ปี ที่ในหลายประเทศที่เจริญแล้วก็มี และสามารถทบทวนหรือแก้ไขได้ตลอดเวลา
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากจะได้ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการคมนาคม ซึ่งได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสายที่ทำได้สำเร็จและมีความคืบหน้าไปมากแล้ว
ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า ที่มาของ พล.อ.ประยุทธ์ มาจากการทำรัฐประหาร หากจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปนั้นจะขาดความชอบธรรมเพราะเป็นการสืบทอดอำนาจ
นางสาวพรรณิการ์ วานิช ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีพฤติกรรมที่ขัดกับมาตรฐานทางจริยธรรม เคยกล่าวขมขู่ลงโทษสื่อมวลชนหลายครั้ง และมีการปิดสถานีข่าวหลายแห่งในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อ และเป็นพฤติกรรมอันเป็นการทำให้เสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของประเทศและเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ในฐานะประธานการประชุม ได้ให้เวลาสมาชิกอภิปรายต่อไปจนถึงขณะนี้การประชุมรัฐสภายังคงดำเนินอยู่