ทุกฝ่ายกำลังแฝ้ารอดูโฉมหน้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้รับเลือกให้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย โดยเฉพาะรัฐมนตรีในตำแหน่งสำคัญ เช่น รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจหลักอย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกระทรวงเกรด A ที่ทุกพรรคอยากได้ และก่อนตกลงจะร่วมรัฐบาลก็จะต้องเจรจาแบ่งสรรปันโควตากัน แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วใครจะคว้าไป
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมอาหารสัตว์ เปิดมุมองต่อรัฐบาลุดใหม่และบุคคลที่จะมานั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.พาณิชย์ ว่า อยากได้คนใหม่ๆเข้ามาบ้าง เพราะถ้าได้คนเก่ามาก็จะได้นโยบายเดิมๆ แต่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แม้ว่าคนปัจจุบันถือว่ายังพอได้ แต่หากมีผู้ที่มีความสามารถเข้ามาดูแลแทนก็พอรับได้ ส่วนรัฐมนตรีพาณิชย์หรือรัฐมนตรีเกษตรมองว่าน่าจะได้คนใหม่เข้ามามากกว่าเพื่อสร้างความแตกต่างในการกำหนดนโยบายและมีแนวทางการแก้ไขปัญหาในรูปแบบใหม่
"ถ้ารองนายกฯ สมคิดถ้าเป็นต่อก็พอได้อยู่ คุณกรณ์ พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้นะ หรือมีใครอีกไหมจากสายแบงก์ ซึ่งน่าจะมีมุมมองใหม่ๆ...รมว.เกษตรขอคนหนุ่มๆ หน่อย สัก 40-50 ก็ได้ มาจากวงการอื่นอย่าง หมอ วิทยาศาสตร์ หรืออะไรก็ได้ ให้มันแตกต่าง"
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ติดตามนโยบายที่แต่พรรคการเมืองในช่วงที่หาเสียงเลือกตั้ง เห็นว่าในด้านเกษตรนั้น นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่ชูการประกันรายได้เกษตรกรถือว่าดีที่สุดในขณะนี้ เพราะมีความสมเหตุสมผลและไม่บิดเบือนกลไกตลาด ส่วนจะเอาระบบอื่นๆ เข้ามาเสริมก็ว่าไป
นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลใหม่ช่วยผลักดันให้มีการบังคับใช้มาตรฐาน GAP, มีการคำนวณต้นทุนการผลิตของเกษตร ส่วนมาตรการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรควรทำกับพืชเศรษฐกิจทุกตัวไม่เฉพาะประเภทใดประเภทหนึ่ง
"ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ อยากฝากถึงรัฐบาลใหม่หรือรัฐมนตรีใหม่ มาแล้วต้องทำตัวให้เก่ง หารัฐบาลประเทศไหนสักประเทศหนึ่งมาเป็นไอดอล แล้วทำตัวให้เก่งเหมือนเขา หรือเก่งกว่าเขา อย่าทำแบบเดิมๆ เพราะ 5 ปีที่ผ่านมาบางเรื่องก็ดีอย่างเรื่องความมั่นคง ถ้าคะแนนเต็ม 10 ให้ 8 หรือ 9 คะแนน ส่วนเรื่องเศรษฐกิจในภาพรวมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานถือว่าดี แต่อย่างอื่น...เรื่องเกษตรก็มีผลงานเด่น คือเรื่องแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย"
ด้านนายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า กระทรวงสำคัญๆ สำหรับมุมมองของตนเอง คือกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม อย่างแรกคือ 3 กระทรวงนี้ต้องทำงานประสานกันในการผลักดันเกษตรแปรรูปไปในทิศทางเดียวกัน
สำหรับเรื่อง Spec ของรัฐมนตรีที่จะมาดูแลกระทรวงพาณิชย์ จะต้องมีความรู้คตวามชำนาญในตลาดต่างประเทศ ไม่ควรจะโฟกัสตลาดใดตลาดหนึ่งเป็นหลักเกินไป เพื่อที่จะหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรก็ได้ให้สินค้าไทยทั้งสดและแปรรูปกระจายไปยังหลายๆตลาด โดยผ่านการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) หรือการทำความร่วมมือกับประเทศต่างๆ หรือเจรจาเรื่องกฎระเบียบ กติกาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคหรือทำให้เราเสียเปรียบทางการค้า
"ถ้าประเทศติดตามชายแดนจะได้สิทธิพิเศษ แต่เราเป็นประเทศที่ 3 ไม่ได้ติดชายแดนก็จะได้ภาษีอีกแบบหนึ่ง อันนี้ต้องระดับรัฐบาลเจรจา"
นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ต้องจัดการกับล้งต่างชาติที่เข้ามาหากินในประเทศไทยอย่างจริงจัง เพราะขณะนี้มีแต่ล้งต่างชาติเข้ามาบริหารจัดการสินค้าเกษตรในประเทศไทยมาก จนล้งไทยอยู่ไม่ได้ และสิ่งแรกที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งช่วยเหลือเป็นลำดับแรก คือ เรื่องราคาสินค้าเกษตร ซึ่งจะต้องช่วยเหลือไปพร้อมกับกลุ่มเอสเอ็มอีทั้งในรายที่ขายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมาบริษัทขนาดใหญ่เป็นกลุ่มที่ได้รับผลดีจากการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นอย่างมากไปแล้ว
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ต้องผลักดันเรื่องมาตรการฐานสินค้าเกษตร GAP เพื่อส่งต่อไปที่กระทรวงพาณิชย์เวลาส่งไปขายต่างประเทศจะได้ไม่ถูกตีกลับมา เนื่องจากตอนนี้สินค้าที่ได้มาตรฐาน GAP มีน้อย แต่ก็ส่งออกไปได้เพราะมีการสวมสิทธิ์เพื่อส่งออกเกิดขึ้น ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมอยากให้เข้ามาช่วยสนับสนุนเรื่องเครื่องจักรเพื่อทำโรงงาน GAP ให้มีมาตรฐาน
ส่วนเรื่องผลักดันราคาสินค้าเกษตร อยากให้เน้นการตลาดนำการผลิต และการผลิตที่มีคุณภาพ โดยจะต้องจำกัดปริมาณการผลิตเพื่อไม่ให้ราคาสินค้าตกต่ำ
"ทุกวันนี้ยางผลิตเยอะ ทุเรียนเราผลิตเยอะมาก แต่โชคดีที่ราคายังไม่ตก"นายอัทธ์ กล่าว
สำหรับนโยบายด้านการเกษตรของพรรคร่วมรัฐบาลที่หาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้ง มองว่า ล้วนแต่เป็นการช่วยเหลือที่ปลายเหตุทั้งหมด แต่ไม่มีนโยบายของพรรคไหนที่พูดถึงการทำตลาดต่างประเทศเลย จะจัดการอย่างไร ไม่มีใครพูดถึงมาตรฐานสินค้าเกษตร
"แข่งกันว่าจะให้ราคาเท่านั้นเท่านี้ มันก็ได้คะแนนเสียงจากเกษตรกร แต่ระยะยาวปัญหาของประเทศก็ยังอยู่"
สำหรับบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ที่กล่าวมาข้างต้น นายอัทธ์ มองว่า คนที่เคยดูแลเดิมก็ควรจะเปลี่ยนให้คนใหม่เข้ามาดูแล ได้เข้ามาแสดงบทบาทเรียกความเชื่อมั่น เราจะได้มุมมองใหม่ๆ ไอเดียใหม่ๆ มีวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา ซึ่งเรื่องแรกที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนคือปัญหาปากท้องของคนไทย ทั้งคนต่างจังหวัด เกษตรกร คนใช้แรงงาน พ่อค้าแม่ค้า เอสเอ็มอีที่ส่งออกไปต่างประเทศเพราะเจอปัญหาสงครามการค้าจนโซซัดโซเซ
"ตอนนี้เอาเรื่องปากท้องก่อนเลยเป็นเรื่องแรก อย่าเพิ่งไปพูดถึงโครงสร้างพื้นฐานอะไรพวกนั้น ตอนนี้ต่างจังหวัดจะตายกันหมดแล้ว...คาดหวังว่าการจัดสรรโควตารัฐมนตรีลงตัวโดยเร็วและได้รัฐบาลใหม่โดยเร็ว และสามารถบริหารประเทศได้ยาวนาน ประเทศชาติจะได้เจริญ เรียกความมั่นใจนักลงทุนได้..."
สุดท้าย ไม่ว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเป็นใคร ตำแหน่งสำคัญของแต่ละกระทรวงใครจะคุมก็ไม่สำคัญ ขอแค่ตั้งใจแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างจริงใจ คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้งก็น่าจะเพียงพอ