นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคว่า การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีในการจัดตั้งรัฐบาลยังไม่เสร็จสิ้น และอยู่ระหว่างการหารือ แต่จะดำเนินการให้เร็วที่สุดทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งต้องให้เกียรติพรรคร่วมรัฐบาลด้วย
นายอุตตม ปฏิเสธว่าไม่มีคนนอกเข้ามาเกี่ยวข้องในการจัดตั้งรัฐบาล โดยกระบวนการเจรจานั้นพรรคได้มอบหมายให้ตนเองและเลขาธิการพรรคฯ ดูแล ไม่ได้เป็นไปตามที่สังคมเข้าใจผิดๆ และนายกรัฐมนตรีก็ต้องเข้ามาดูภาพรวมทั้งหมด ซึ่งหากมีข้อคิดอย่างไรพรรคก็คงนำมาหารือ
"เมื่อนายกฯเข้ารับตำแหน่งแล้วจะเข้ามาช่วยดู ขณะนี้ยังเป็นขั้นตอนการทำงานของพรรค" นายอุตตม กล่าว
ในวันนี้พรรคได้มีมติตั้งนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค เป็นหัวหน้าคณะทำงานในการประสานนโยบาย เพื่อนำนโยบายของแต่ละพรรคร่วมรัฐบาลมาจัดทำเป็นนโยบายรัฐบาลที่จะนำไปสู่ภาคปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพราะมีผลต่อการจัดโครงสร้างการทำงาน ส่วนการหารือการจัดสรรกำลังคนมารับผิดชอบงานในแต่ละด้าน เป็นเรื่องแต่ละพรรคที่ได้มอบหมายตัวบุคคลไปดำเนินการอยู่แล้ว
สำหรับการจัดทำนโยบายรัฐบาลนั้นคงไม่ได้ยึดของพรรคใดเป็นหลัก แต่จะนำมาปรับให้สอดคล้องกัน เพราะเป็นรัฐบาลเดียวกันแล้วถือว่าลงเรือลำเดียวกันแล้ว "คณะทำงานจะประสานกับพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องการจัดทำนโยบายรัฐบาลเท่านั้น ส่วนการจัดสรรตำแหน่งเป็นเรื่องของแต่ละพรรค ซึ่งตนเองและเลขาธิการพรรคจะทำหน้าที่ประสานงาน"นายอุตตม กล่าว
นายอุตตม กล่าวว่า สำหรับอดีต 4 รัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่แล้วก็ยังไม่ทราบว่าจะได้รับตำแหน่งอะไร ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าหากไม่ได้กระทรวงเศรษฐกิจหลักก็จะไม่ขอรับตำแหน่งใด ๆ ในรัฐบาลนั้นตนเองยังไม่ได้ยินเรื่องนี้
"ในส่วน 4 รมต. ยังไม่รู้ว่าจะได้ตำแหน่งอะไร ในพรรคยังเขย่าไม่เสร็จ"นายอุตตม กล่าว
กรณีที่โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะหมดอายุลงในเดือน ก.ย.นั้น นายอุตตม กล่าวว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะสานต่อ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลของบางพรรคนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความซับซ้อน และต้องหารือกับฝ่ายนิติบัญญัติทั้งหมด แต่ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดประเด็นที่จะมีการแก้ไข
ด้านนายสนธิรัตน์ กล่าวว่า การกำหนดกรอบการทำงานของรัฐบาลคงใช้เวลาไม่นาน โดยหลังจากนี้ตนเองจะไปร่างกรอบการทำงานเพื่อเร่งดำเนินการต่อไปให้เร็วที่สุด เพราะอีกไม่นานจะมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งต้องมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลมีการหารือกันมาต่อเนื่อง ซึ่งกระบวนการอาจแตกต่างจากในอดีต โดยนายกรัฐมนตรียังไม่ได้เข้ามาร่วมหารือ เป็นการดำเนินการในขั้นตอนของพรรคการเมือง และเมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับโปรดเกล้าฯ แล้วจึงจะเข้ามาร่วมหารือเพิ่มเติม เพื่อดูความเหมาะสม ความสมดุล เพื่อให้สถานะของรัฐบาลเกิดเสถียรภาพ