"วิษณุ" เชื่อการจัดตั้งรัฐบาลจะเรียบร้อย ชี้"อนาคตใหม่"ยื่นขอแก้รธน.เป็นสิทธิที่ทำได้

ข่าวการเมือง Monday June 10, 2019 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงความไม่ลงตัวในการจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ว่า ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่า จัดตั้งรัฐบาลไม่ลงตัวจริงหรือไม่ แต่เชื่อว่าสุดท้ายก็จะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยความเรียบร้อย และไม่ขอแสดงความเห็นว่านายกรัฐมนตรีจะสามารถควบคุมการทำงานในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลได้หรือไม่

นายวิษณุ กล่าวถึง การโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ว่า อยู่ระหว่างการดำเนินการของทางสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถ้ามีการโปรดเกล้าฯแล้ว ทางเลขาธิการสภาฯ จะเป็นผู้ประสานมายังนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ นายวิษณุ ยืนยันว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อทาบทามให้ร่วมงานใน ครม.ชุดใหม่ และไม่ทราบว่าอายุการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่จะอยู่ได้สั้นหรือยาว รวมถึงการพยายามต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีผ่านโลกโซเซียลมีเดียนั้น ก็ไม่รู้ว่าเรื่องนี้มีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด ซึ่งเชื่อว่านายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคพลังประชารัฐ จะสามารถชี้แจงเรื่องการต่อรองตำแหน่งได้ดีที่สุด

ส่วนกรณี นายเอกพันธุ์ ปิณฑวนิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยการคำนวณคะแนน ส.ส.ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาจมีข้อผิดพลาด นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบเพราะไม่รู้ว่าใครถูกหรือผิด แต่วันนี้คนที่มีอำนาจ คือ กกต. เพราะฉะนั้นคนที่จะบอกว่าถูกหรือผิดต้องไปหักล้างสิ่งที่ กกต. คิด ไม่ใช่สร้างกระแสสังคมให้รู้สึกคล้อยตาม อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจของ กกต. อาจจะผิดได้ หากมีองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด ก็ต้องว่ากันใหม่

ส่วนกรณีที่นายปิยะบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เตรียมยื่นญัตติเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา จำนวน 2 มาตรา คือ มาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองความชอบของการออกประกาศ, คำสั่ง และการกระทำของ คสช.ว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และแก้ไขมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว. ร่วมลงมติเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นสิทธิที่สามารถดำเนินการได้ในฐานะสมาชิกรัฐสภา แต่ต้องเข้าชื่อให้ได้จำนวนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ทั้งนี้มองว่ากรณีที่ ส.ว.บางส่วนออกมาแสดงความเห็นนั้น ไม่น่าจะเป็นการคัดค้าน แต่คงเป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินการคงไม่ง่ายนัก ซึ่งตามหลักการประชาชนสามารถเข้าชื่อ 50,000 คน เพื่อยื่นขอแก้ไขได้ แต่กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญนั้นต้องแก้ในสภาฯ โดยต้องมีการประชุมร่วมรัฐสภาและมีการพิจารณาใน 3 วาระ ซึ่งการลงคะแนนในแต่ละวาระจะใช้คะแนนเสียงไม่เหมือนกัน โดยวาระ 1 และ 3 ใช้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง และเสียงของ ส.ว. 1 ใน 3 ส่วนวาระที่ 2 ใช้คะแนนเสียงข้างมาก

ส่วนกรณีที่มีสมาชิกในสภาฯ มีความเห็นแตกต่างกันจะส่งผลต่อการทำงานของฝ่ายบริหารหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า หน้าที่ของสภาฯคือการทำให้เห็นต่าง ไม่เช่นนั้นจะถูกมองว่ากลายเป็นพวกเดียวกันทั้งหมด จึงทำให้ในสภาฯจำเป็นต้องมีฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน และมองว่าความเห็นที่แตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย ที่จะยอมรับซึ่งกันและกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ