SCB EIC เผยรัฐบาลใหม่ยังคงมีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า แม้ได้นายกฯ จากขั้วการเมืองเดิม

ข่าวการเมือง Monday June 10, 2019 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ความกังวลเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศคลี่คลายลงบางส่วน หลังจากที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.62 ได้ลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เสนอชื่อโดยพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีจากขั้วการเมืองเดิมก่อนการเลือกตั้ง

"การได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลงได้บางส่วน เนื่องจากเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเข้ามาบริหารประเทศได้ในไม่ช้า จึงมีแนวโน้มส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นอย่างน้อยในระยะสั้น" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

หากพิจารณาสถานการณ์ในตลาดหุ้นพบว่า ดัชนี SET มีการปรับเพิ่มขึ้นถึง 33.19 จุด ตั้งแต่วันที่ 4-6 มิ.ย.62 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความชัดเจนของสถานการณ์การเมืองที่มีมากขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่การประกาศเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐของหลายพรรคการเมืองจนถึงวันที่สภามีมติเลือกนายกฯ

นอกจากนี้ การที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่มาจากขั้วการเมืองเดิมก่อนการเลือกตั้งก็มีโอกาสทำให้การสานต่อนโยบายมีความต่อเนื่องมากขึ้น โดยนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ (mega-projects) ที่เน้นลงทุนด้านระบบขนส่งทั้งระบบถนน ระบบราง ท่าเรือ และอากาศยาน รวมถึงโครงการสร้างและพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

อย่างไรก็ดี แม้จะได้นายกฯ คนใหม่จากขั้วการเมืองเดิม แต่สถานการณ์ด้านการเมืองในระยะข้างหน้าก็ยังมีความท้าทายอยู่อีกหลายประการ ได้แก่

1.เสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมีจำนวนใกล้เคียงกัน สะท้อนจากเสียงในการเลือกนายกฯ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.62 ซึ่งการที่ทั้งสองฝ่ายมีเสียงใกล้เคียงกันอาจจะทำให้การผลักดันนโยบายหรือการผ่านร่างกฎหมายของฝ่ายรัฐบาลมีความยากลำบาก อีกทั้งการที่ฝ่ายรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรคการเมืองก็อาจทำให้การประสานผลประโยชน์ระหว่างพรรคทำได้ยาก จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลอาจไม่มั่นคงในระยะข้างหน้า โดยจากการสำรวจของสวนดุสิตโพล[1] พบว่าประชาชนที่ตอบคำถามกว่า 73.65% เชื่อว่ารัฐบาลจะอยู่ไม่ครบวาระ 4 ปี และมากถึง 34.07% คิดว่ารัฐบาลจะมีอายุไม่เกิน 1 ปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไป เนื่องจากความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลนับเป็นอุปสรรคสำคัญลำดับแรกของการประกอบธุรกิจในไทยตามความเห็นของผู้ประกอบการที่ทำการสำรวจโดย WEF ปี 2017-2018

2.การประสานแนวนโยบายต่าง ๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลก็จะเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญ เนื่องจากแต่ละพรรคมีนโยบายที่ต่างกันในช่วงการรณรงค์หาเสียง หรือในบางนโยบาย แม้ว่าจะมีจุดประสงค์คล้ายกัน แต่วิธีการในการดำเนินนโยบายก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้นการคัดเลือกและประสานผลประโยชน์ของนโยบายจากหลายพรรคจึงไม่ใช่งานที่ง่าย นอกจากนี้ยังมีความท้าทายในมิติของความเป็นไปได้ในการจัดสรรงบประมาณอีกด้วย เนื่องจากหลายมาตรการของหลายพรรคการเมืองเป็นนโยบายที่ต้องอาศัยวงเงินงบประมาณขนาดใหญ่และมีแนวโน้มจะเป็นงบประมาณผูกพันต่อเนื่อง เช่น การประกันราคาสินค้าเกษตรหรือประกันรายได้เกษตรกร การให้เงินกับมารดาที่มีการตั้งครรภ์ การให้เงินดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุที่กำหนด และโครงการบ้านล้านหลัง เป็นต้น และยังรวมถึงนโยบายสำคัญเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรงที่อาจส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวม โดยหากมีการปรับขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ประกอบการโดยตรง ซึ่งอาจทำให้หลายบริษัทไม่สามารถปรับตัวได้ทันและจำเป็นต้องปิดกิจการ โดยเฉพาะ SMEs ที่มักมีสัดส่วนต้นทุนแรงงานในระดับสูง ดังนั้นแม้ว่าจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่ได้ แต่ความไม่แน่นอนด้านแนวนโยบายเศรษฐกิจก็ยังมีอยู่ ซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญลำดับที่สาม ในการประกอบธุรกิจที่ทำการสำรวจโดย WEF ในปี 2017-2018 ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารจึงควรสร้างความชัดเจนด้านนโยบายทางเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด เพื่อลดความไม่แน่นอน และยังต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงผลกระทบของนโยบายต่าง ๆ ก่อนที่จะมีการดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้จากโครงสร้างและสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน SCB EIC ประเมินแนวนโยบายสำคัญที่รัฐบาลใหม่อาจพิจารณาดำเนินการได้ มีดังนี้

1.หากรัฐบาลใหม่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ควรเป็นนโยบายที่ผสมผสานระหว่างการช่วยเหลือผู้ที่กำลังประสบปัญหาและการกระตุ้นการใช้จ่ายในภาพรวม โดยจากแนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันตามภาวะการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า จึงอาจส่งผลให้รัฐบาลใหม่มีความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายควรเน้นช่วยเหลือผู้ที่กำลังประสบปัญหา เช่น ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออก ภาคการท่องเที่ยวที่มีรายรับจากนักท่องเที่ยวลดลง และยังรวมถึงภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากการที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงติดลบต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังควรจัดทำนโยบายที่สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายในภาพรวม เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจภายในประเทศหลังจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก โดยแนวนโยบายควรเป็นมาตรการที่สามารถอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วและมีผลทวีคูณทางเศรษฐกิจในระดับสูง (multiplier effect) แต่จะต้องไม่มีผลผูกพันในระยะยาวเพื่อป้องกันการสร้างภาระทางการคลังในอนาคต และไม่ควรมีการบิดเบือนกลไกตลาดที่มากเกินไปจนก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ภาคธุรกิจจะไม่มีการปรับตัวเพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของตนเองเพื่อการพัฒนาในระยะยาว

2.รัฐบาลใหม่ควรเร่งรัดการเบิกจ่ายด้านก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (mega-projects) ให้เป็นไปตามแผน ทั้งในส่วนของโปรเจกต์ที่กำลังดำเนินการและโปรเจกต์ในแผนงานที่ยังไม่ได้มีการประมูล เนื่องจากจะมีผลดีในระยะสั้นผ่านการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี รวมถึงการเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและภาวะสงครามการค้า นอกจากนี้ ยังมีผลดีในระยะยาวด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและทันสมัย และยังมีแนวโน้มช่วยกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ในส่วนอื่น ๆ ของประเทศนอกจากเขตเมืองใหญ่เพียงไม่กี่เมืองในปัจจุบัน ทั้งนี้ด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขต EEC ก็ควรมีการจัดทำตามแผนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงควรมีการผลักดันให้เกิดการลงทุนจริงของภาคเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะการดึงดูดบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกที่เข้าข่ายเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยให้มาลงทุนในพื้นที่มากขึ้น และยังอาจใช้ประโยชน์จากภาวะสงครามการค้าในการเชิญชวนบริษัทชั้นนำที่มีฐานการผลิตในประเทศจีนให้ย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทยเพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าได้อีกด้วย

3.ปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพและเพิ่มความสามารถของแรงงานในปัจจุบัน เนื่องจากในปัจจุบันสังคมไทยมีกำลังแรงงานลดลง ขณะที่ มีประชากรวัยชรามากขึ้น ดังนั้นหนึ่งในทางออกที่ยั่งยืนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะต่อไป ก็คือการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) โดยจากงานศึกษาของอีไอซี พบว่า หนึ่งในแนวทางสำคัญของการเพิ่มผลิตภาพแรงงานคือการพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพและสามารถนำมาใช้งานได้จริงมากขึ้น โดยภาครัฐและมหาวิทยาลัยจะต้องร่วมมือกันวางแผนผลิตนักศึกษาในสายที่เป็นที่ต้องการมากขึ้น (demand-driven) เพื่อเป็นการแก้ปัญหา skill mismatch ที่เป็นปัญหาของตลาดแรงงานไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ ภาครัฐยังควรมีการสนับสนุนสร้างทักษะแรงงานผ่านการศึกษาแบบ lifelong learning เนื่องจากในปัจจุบัน วิทยาการต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นที่แรงงานจะต้องได้รับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะของตนเองอย่างสม่ำเสมอ โดยภาครัฐอาจช่วยสนับสนุนผ่านเงินอุดหนุนบางส่วนให้กับบริษัทเอกชนที่มีการจัดอบรม หรืออาจอุดหนุนให้กับประชาชนโดยตรงในการเข้าฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะตนเอง

4.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs พบว่า ความแตกต่างระหว่างระดับหนี้เสีย (NPL) ของ SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ในหลายสาขามีค่าสูงขึ้นกว่าค่าในอดีต ซึ่งอาจสรุปได้ว่าความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ลดลงเมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้นรัฐบาลใหม่จึงควรมีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs เนื่องจากเป็นภาคธุรกิจที่มีการจ้างงานในระดับสูง โดยควรพิจารณาส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีแก่ SMEs เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และมีการส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม ลดการกระจุกตัวของตลาด (market concentration) โดยเฉพาะส่วนที่เกิดจากการเอื้อประโยชน์โดยรัฐหรือการแข่งขันโดยรัฐเอง รวมถึงการให้ความรู้ทางการเงินในการทำธุรกิจของ SMEs อีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ