นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีการยื่นเรื่องร้องเรียนว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ซึ่งอาจส่งผลให้การแต่งตั้ง ส.ว.เป็นโมฆะว่า ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ทำให้การแต่งตั้ง ส.ว.และการโหวตนายกรัฐมนตรีเป็นโมฆะ เพราะรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ไม่จำเป็นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะในรัฐธรรมนูญและกฎมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติว่าด้วยเรื่องการเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา โดยมาตรา 269 เขียนไว้เพียงให้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาเท่านั้น
นายวิษณุ กล่าวว่า การที่ คสช. ยังไม่เปิดเผยหลังจากการแต่งตั้งในตอนต้น เพราะเกรงว่าจะเกิดการวิ่งเต้นขอตำแหน่ง เนื่องจากไม่ได้ใช้ระบบการสมัคร แต่ให้คณะกรรมการสรรหาไปเจาะหาตัวบุคคล
อย่างไรก็ดี คสช.จะเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว.หลังจากนี้ ไม่ได้มีอะไรต้องปกปิด แต่หาก คสช.ไม่เปิดเผย ตนจะขอเปิดเองก็ได้
ส่วนรายชื่อสำรอง ส.ว.อีก 50 คน ได้ส่งรายชื่อไปที่ประธานวุฒิสภาแล้ว คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 1-2 วันนี้
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่าคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ได้สรรหาตัวเองเข้าไปเป็น ส.ว.ด้วยนั้น นายวิษณุ ยืนยันว่า ไม่มี เพราะตนอยู่ในคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ด้วย ไม่พบว่ามีการสรรหาตัวเองเข้าไปเป็น ส.ว. ซึ่งในการทำงานของกรรมการสรรหาแต่ละคนได้เสนอชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมขึ้นมาคนละ 50-60 ชื่อ โดยมีคณะกรรมการสรรหาทั้งหมด 10 คน แต่ลาออกไป 1 คน เหลือ 9 คน ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด และกรรมการสรรหาก็ไม่ได้เสนอชื่อตัวเอง
ทั้งนี้ เมื่อที่ประชุมได้พิจารณารายชื่อที่มีการเสนอแล้วพบว่า มีกรรมการสรรหาถูกเสนอชื่อให้เป็น ส.ว.ด้วย กรรมการคนดังกล่าวที่ถูกเสนอชื่อก็ต้องออกจากที่ประชุม ซึ่งได้ทำเช่นนี้ตั้งแต่ขั้นตอนของคณะกรรมการสรรหาจนถึงการพิจารณาในส่วนของ คสช. โดยคณะกรรมการสรรหาได้รวบรวมรายชื่อทั้งหมด 395 รายชื่อเพื่อส่งให้หัวหน้า คสช. โดยได้รายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินแล้วตั้งแต่ต้น