คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ จัดงาน 70 ปี สถาปนาคณะรัฐศาสตร์ พร้อมเสวนาวิชาการเรื่อง "ทิศทางการเมืองไทยภายใต้รัฐบาลใหม่ : การเมืองของความหวังหรือจุดเริ่มต้นของวิกฤตครั้งใหม่?" โดยมีนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, นางพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย และนายโกวิทย์ พวงงาม สมาชิกพรรคพลังท้องถิ่นไทย ร่วมเสวนา
นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึง ทิศทางการเมืองไทยภายใต้รัฐบาลใหม่ โดยเชื่อว่าหลังจากนี้จะเป็นความเฟื่องฟูของประชาธิปไตยผ่านกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่ยอมรับว่ารู้สึกกังวลกับบรรยากาศการเมืองหลังการเลือกตั้งที่มีการโจมตีกล่าวหากัน จึงอยากเห็นทุกพรรคการเมืองทำการเมืองด้วยความศรัทธา เคารพสิทธิของผู้อื่น ไม่นำคนสู่ท้องถนนแบบในอดีต หลังจากนี้เป็นเรื่องของการต่อสู้กันในสภาฯ และคิดว่าสิ่งที่จะดีต่อระบบประชาธิไตยคือ การเปิดโอกาสให้ผู้ที่คิดต่างได้แสดงความคิดเห็น
ส่วนบรรยากาศการจัดตั้งรัฐบาลผสมจะนำไปสู่ความขัดแย้งในระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น นายชวลิต มองว่า บรรยากาศการจัดตั้งรัฐบาลผสมคงไม่แตกต่างจากในอดีต แต่บุคคลที่จะมาทำหน้าที่รัฐมนตรีภายใต้กฏหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะถูกตรวจสอบจากสังคมมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่รัฐมนตรีต้องระมัดระวังในการทำงานหลังจากนี้
สำหรับแนวทางการจัดการปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างจริงจังจะเกิดขึ้นได้นั้น นายชวลิต มองว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ยังมีอยู่มากจนนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ คือ ต้องให้สภาเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหา ไม่นำความขัดแย้งแก้ด้วยการต่อสู้บนท้องถนนอีกต่อไป
ด้านนายโกวิทย์ พวงงาม ตัวแทนพรรคพลังท้องถิ่นไทย กล่าวว่า ถ้าเริ่มต้นด้วยเรื่องตำแหน่งทางการเมือง อาจเกิดปัญหาได้ ซึ่งปัจจัยที่จะส่งผลต่ออายุรัฐบาลมีหลายปัจจัย ทั้งเรื่องเสถียรภาพรัฐบาล หน้าตาของคณะรัฐมนตรี การบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เห็นแต่ประโยชน์ของพรรคเท่านั้น และต้องสามารถนำนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชนนำไปสู่การปฏิบัติได้ ถ้าหากเป็นแบบนี้ได้ การเมืองจะเป็นความหวังมากกว่าวิกฤติ จึงหวังว่าจะเห็นรัฐบาลที่เดินหน้าด้วยระบบรัฐสภาหลังจากว่างเว้นมา 5 ปี
นายโกวิทย์ ยอมรับว่า ความขัดแย้งในสังคม การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองยังคงมีอยู่ จึงอยากให้ทุกฝ่ายคิดถึงเรื่องการนำประเทศไปสู่ความสงบสุข ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม นายโกวิทย์ มองว่า ส.ส.ชุดปัจจุบันมาจากกลุ่มคนที่หลากหลาย ทั้งจากพรรคที่เกิดขึ้นใหม่ และกลุ่มส.ส.เดิม ซึ่งถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง จึงอยากเห็นความหลากหลายในสภามาหาข้อยุติร่วมกัน ยอมรับในความแตกต่างทางความคิด แก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งเรื่องเชิงโครงสร้าง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแก้ไขในบางเรื่องที่ยังถูกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าจะแก้ไขปัญหาด้วยการออกมาชุมนุมอย่างในอดีต
ทั้งนี้ หากรัฐบาลเดินหน้ากระจายอำนาจสู่ชุมชนและท้องถิ่น จะมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ ซึ่งการกระจายอำนาจ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคพลังท้องถิ่นไทยที่ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ทางพรรคอยากให้ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมมือกันในการผลักดันในเรื่องนี้
ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) มองว่า การเมืองไทยยังคงอยู่ในวิกฤตเดิมตั้งแต่การปฏิวัติรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งใจกลางของวิกฤตไม่ได้อยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่อยู่ที่อำนาจของประเทศเป็นของใคร เพราะฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าอำนาจอยู่ในมือของประชาชน แต่อีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นคนกลุ่มน้อยกว่า เชื่อว่าอำนาจอยู่ในฝ่ายของอภิสิทธิ์ชน ซึ่งนี้ถือเป็นใจกลางของปัญหาในสังคมที่ยังแก้ไม่ได้
นายธนาธร กล่าวว่า หลังจากนี้จะเข้าสู่เฟสใหม่ แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะสลายตัวไป แต่ระบอบ คสช.ยังอยู่ในประเทศไทย ในรูปแบบของรัฐธรรมนูญปี 2560 สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง องค์กรอิสระที่แต่งตั้งด้วยคสช. และคณะกรรมการยุทธศาตร์ชาติ รวมถึงตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายธนาธร ระบุว่า พรรคอนาคตใหม่จะทำหน้าที่ในสภาด้วยการตรวจสอบรัฐบาล การตั้งกระทู้ถามถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และเรื่องที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงเดินหน้าเสนอให้มีการแก้ไขรัฐไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 272 และมาตรา 279 เสนอกฏหมายยุติการเกณฑ์ทหาร และรณรงค์การการกระจายอำนาจให้เกิดขึ้นจริง
พร้อมมองว่า หลังจากนี้ จะมีความพยายามอ้างถึงความชอบธรรมการเข้าสู่การเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และการดำรงอยู่ของส.ว. ได้ส่งผลต่อกลไกการตัดสินใจทางการเมืองของแต่ละพรรคการเมืองที่ทำให้เห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย
"ต้องตั้งคำถามว่าใครเป็นต้นตอของปัญหา ใครเป็นนั่งร้านสนับสนุนการสืบทอดอำนาจคสช. ใครเป็นต้นตอของปัญหากันแน่ อย่าให้เขามาตีกิน อย่าให้คนกลุ่มหนึ่งถืออำนาจไว้แล้วไม่คืน" นายธนาธร กล่าว
นายธนาธร ยอมรับว่า ในอนาคตโอกาสเกิดปฏิวัติรัฐประหารยังมีความเป็นไปได้ จึงเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมกันต่อสู้เพื่อไม่ให้เกิดการปฏิวัติเกิดขึ้นอีกในประเทศไทย
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สิ่งที่ยังพอเห็นเป็นความหวังหลังจากมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ คือ หัวหน้าคสช. และอำนาจตามคำสั่งคสช. โดยเฉพาะคำสั่ง ม.44 จะหมดไป แต่ร่างทรงของคสช.ยังคงอยู่ ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แต่เมื่อมีระบบรัฐสภา ฝ่ายค้านสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้นได้ ซึ่งจะมีการตั้งกระทู้ถามและตรวจสอบข้อสงสัยต่างๆ ที่ประชาชนสนใจให้สังคมรับรู้ข้อเท็จจริงได้
พร้อมทั้งมองว่า หลังจากนี้ส.ส.พรรคพลังประชารัฐคงต้องทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์ร่างทรงคสช. เพราะเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์คงไม่มีใครเปลืองตัวมาเป็นองครักษ์พิทักษ์ร่างทรงคสช.ด้วย
นายพงศ์เทพ มองว่า ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไม่ได้เกิดจากความเหลื่อมล้ำ แต่เกิดจากการที่ยังไม่มีความยุติธรรม โดยในสังคมยังมี 2 มาตรฐาน ถ้าหากองค์กรต่างๆ ทั้งฝ่ายองค์กรอิสระ และฝ่ายตุลาการใช้มาตรฐานเดียวกัน เชื่อว่าความขัดแย้งจะไม่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่สามารถคาดความหวังการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ เพราะส่วนใหญ่ถูกแต่งตั้งโดยผ่านความเห็นชอบจากสนช.
ขณะเดียวกัน เชื่อว่าจะเกิดความไม่เป็นเอกภาพในการทำงานของรัฐบาลที่เกิดจากพรรคร่วมถึง 19 พรรค ซึ่งฝ่ายค้านคงทำหน้าที่ได้ดีที่สุด คือการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่หากเสนอกฏหมายคงเป็นเรื่องยากที่จะได้รับการพิจารณา
อย่างไรก็ตาม นายพงศ์เทพ มองว่า คงเป็นเรื่องยากหากจะมีการผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันวางเงื่อนไขที่ซับซ้อน ซึ่งสิ่งที่ทำได้ คือต้องยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ดังนั้นจึงเรียกร้องให้มีการทำประชามติว่าควรจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ เพื่อจะได้กำหนดกติกาใหม่ และเพื่อประโยชน์ให้สังคมอยู่ร่วมกันได้