นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวถึงกรณีที่ 27 ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐไปยื่นคำร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญขอคุ้มครองชั่วคราว โดยอ้างว่าหากหยุดปฏิบัติหน้าที่จะกระทบกับการทำหน้าที่สำคัญนั้น ตนเองขอให้พิจารณาโดยใช้แนวทางเดียวกันกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางกฎหมายอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมสภาฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน
"หากกรณี ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐทั้ง 27 คนได้การคุ้มครองชั่วคราวแบบนี้ พรรคอนาคตใหม่ก็ขอสงวนสิทธิที่จะขอใช้สิทธิบ้าง แต่เรายืนยันว่าไม่มีช่องทาง แต่ถ้าขอได้ ผมจะขอบ้าง" นายปิยบุตร กล่าว
ส่วนกรณีที่ฝายกฎหมายของพรรคพลังประชารัฐร้องขอให้ศาลพิจารณาไต่สวนคดีเป็น 2 ครั้ง คือ ให้คู่กรณีให้ปากคำก่อนจะรับหรือไม่รับ ไม่สามารถทำได้ เพราะทำได้เพียงการตั้งตุลาการคณะเล็ก ทำงานเพื่อพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง หากตุลาการคณะเล็กพิจารณาและมีความเห็นอย่างไรต้องส่งให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะใหญ่พิจารณาภายใน 5 วัน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ซึ่งหากใช้องค์คณะใหญ่ ตอนนี้ก็ถือว่าเกินช่วงเวลา 5 วันมาแล้ว และสุดท้ายหากศาลอนุญาตให้ 41 ส.ส.พรรครัฐบาลที่ทางพรรคได้ยื่นคำร้องเข้าชี้แจงก่อนวินิจฉัยว่าจะให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ แต่ทำไมกรณีของนายธนาธร ไม่มีการเปิดโอกาสให้ชี้แจงในลักษณะเดียวกันบ้าง
นายปิยบุตร กล่าวว่า สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญอยู่ในขณะนี้มีสองเรื่อง เรื่องแรกก็คือเกณฑ์ในการพิจารณาดูว่ามีการถือหุ้นสื่อ จริงหรือไม่ และเรื่องที่สอง คือจะมีการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวหรือไม่
โดยในเรื่องแรกนั้น ได้มีแนวทางคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาแล้วในสองคดีหลักๆ คือคดีของ นายภูเบศวร์ เห็นหลอด อดีตผู้ สมัคร ส.ส.สกลนคร พรรคอนาคตใหม่ และ นายคมสัน ศรีวนิชย์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.อ่างทอง พรรคประชาชาติ ซึ่งทั้งสองคดีนี้ศาลได้ให้ แนวทางมาแล้ว ว่าให้ไปดูที่หนังสือบริคณห์สนธิ โดยถ้ามีข้อความระบุว่าทำกิจการที่เกี่ยวกับสื่อวลชน ก็ให้ถือว่าบริษัทนั้นประกอบกิจการสื่อจริง
ส่วนเรื่องที่สอง กรณีที่เกิดขึ้นกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้ยุติการปฏิบัติ หน้าที่เป็นการชั่วคราว โดยระบุว่าหากปล่อยให้ปฏิบติหน้าที่ต่อไป จะส่งผลให้เกิดปัญหาทางกฎหมายและการดำเนินงานที่สำคัญในการประชุมสภา
นายปิยบุตร กล่าวว่า ในเมื่อมีข้อเท็จจริงที่คล้ายคลึงกันอย่างนี้จึงอยากเห็นว่าจะมีการใช้มาตรฐานในการพิจารณาคดีอย่าง ไร ตนเองอยากเห็นสังคมไทยมีกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยที่มีความเท่าเทียมกัน กฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้ทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้น จริงหรือไม่ ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นจริงจากศรัทธาและการประเมินของประชาชน
"ขอให้มีมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเที่ยมกัน สิ่งที่เหมือนกันต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน สิ่งที่ต่างกันก็ ต้องได้รับการปฏิบัติต่างกัน" นายปิยบุตร กล่าว