ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับเรื่องไว้วินิจฉัยสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรณีถือหุ้นในกิจการสื่อจำนวน 32 ราย จากที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรยื่นมา 41 ราย แต่ไม่ได้มีคำสั่งให้ ส.ส.ทั้ง 32 คนต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจใด ซึ่งศาลจะต้องดำเนินการไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงให้ยุติต่อไปก่อน
ศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ในวันนี้ได้มีการประชุมปรึกษาพิจารณาคดีกรณีประธานสภาฯ ส่งคำร้องขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 จำนวน 2 คำร้อง โดยขอให้วินิจฉับว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.จำนวน 41 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่
ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฎว่า ส.ส.ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาฯ ขอให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.จำนวน 41 คนสิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรหนึ่ง เนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
ศาลประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) บัญญัติลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ไว้ว่า "เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ" มิใช่เพียงเจตนาหรือความประสงค์จะทำกิจการดังกล่าวเท่านั้น ถึงแม้การถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือริษัทที่มีวัตถุประสงค์จะประกอบธุรกิจพอที่จะใช้เป็นเหตุให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลได้
แต่ก่อนที่จะรับคำร้องไว้พิจารณาต่อไปได้ยังจำเป็นต้องตรวจสอบวัตถุที่ประสงค์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ผู้ถูกร้องทั้ง 41 คน ถือหุ้นอยู่ว่าเป็นวัตถุประสงค์ที่จะประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ หรือไม่
เมื่อตรวจสอบจากเอกสารประกอบคำร้องของผู้ร้องแล้ว ปรากฎว่าหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งออกให้แก่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทของนายศาสตรา ศรีปาน ผู้ถูกร้องที่ 14, นายสุรศักดิ์ ชิงนวรรณ์ ผู้ถูกร้องที่ 16, นางสาวภริม พูลเจริญ ผู้ถูกร้องที่ 17, นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ผู้ถูกร้องที่ 20, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ผู้ถูกร้องที่ 26 และนายจักรพันธ์ พรนิมิตร ผู้ถูกร้องที่ 27 ตามคำร้องที่ 1
รวมทั้งนายกรณ์ จาติกวนิช ผู้ถูกร้องที่ 2, นายประมวล พงศ์ถวาราเดช ผู้ถูกร้องที่ 3 และนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ผู้ถูกร้องที่ 8 ตามคำร้องที่ 2
โดยมีข้อความระบุรายละเอียดวัตถุประสงค์ไว้ทำนองเดียวกันว่า "การประกอบกิจการค้า กระดาษ เครื่องเขียน แบบเรียน แบบพิมพ์ หนังสือ อุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์ถ่ายภาพและภาพยนตร์ เครื่องคำนวณ เครื่องพิมพ์ อุปกรณ์การพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ตู้เก็บเอกสาร และเครื่องใช้สำนักงานทุกชนิด เครื่องมื่อสื่อสาร คอมพิวเตอร์ รวมทั้งอุปกรณ์และอะไหล่ของสินค้าดังกล่าว"
ทั้งนี้ เป็นวัตถประสงค์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ที่จะเป็นลักษณะเข้าข่ายอันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้อง จำนวน 9 คน ต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98 (3) แต่อย่างใด จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องในส่วนของผู้ถูกร้อง จำนวน 9 คน ไว้พิจารณาวินิจฉัย
สำหรับคำร้องของผู้ร้องในส่วนของผู้ถูกร้องที่เหลือจำนวน 32 คน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง ประกอบพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (5) แล้วศาลจึงสั่งรับคำร้องของผู้ถูกร้อง จำนวน 32 คนไว้พิจารณาวินิจฉัย และแจ้งให้ผู้ร้องทราบพร้อมส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากต่อศาล ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
ส่วนคำขอให้ผู้ถูกร้องทั้ง 32 คนหยุดปฎิบัติหน้าที่นั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติเงื่อนไขไว้ว่าจะต้อง "ปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง" แต่ในคดีนี้ผู้ร้องไม่ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง คงมีเอกสารประกอบคำร้องเพียงหนังสือรับรองห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทระบุรายละเอียดวัตถุประสงค์กับสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเท่านั้น ไม่ปรากฎแบบแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของห้างหุ้นส่วนบริษัทฯ (แบบ สสช.1) และแบบนำส่งงบการเงินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทว่ามีรายได้จากการประกอบกิจการใด กรณีจึงยังไม่มีความชัดเจนว่า ผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจใด ซึ่งศาลจะต้องดำเนินการไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงให้ยุติต่อไป
"เมื่อยังไม่ปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้อง จำนวน 32 คน มีกรณีตามที่ถูกร้องในชั้นนี้ จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 32 คนหยุดปฎิบัติหน้าที่"ศาลรัฐธรมนูญ ระบุ
อนึ่ง คดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ได้ผ่านการสอบสวนของ กกต.ซึ่งมีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงมาก่อนยื่นคำร้อง โดยมีเอกสารประกอบคำร้อง เช่น แบบ สสช.1 ระบุสินค้าหรือบริการที่ประกอบการว่า ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ โรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือ พิมพ์หนังสือจำหน่าย ประกอบกับแบบนำส่งงบการเงินที่บริษัทของนายธนาธรยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 54-58 ระบุไว้ชัดเจนว่ามีรายได้จากการขายนิตยสาร และรายได้จากการให้บริการโฆษณา กรณีจึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายธนาธร มีกรณีตามที่ถูกร้อง ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้มีคำสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย