นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเห่งชาติ (คสช.) ผ่านศูนย์บริการประชาชนเพื่อทักท้วงว่านายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หลังมีชื่อเป็น รมว.คลัง เนื่องจากมีส่วนในการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร สมัยเป็นกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย (KTB)
นายเรืองไกร ได้ชี้แจงเหตุผลที่ยื่นหนังสือในครั้งนี้ว่า แม้คณะกรรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ไม่ได้ชี้มูลว่านายอุตตม มีความผิด และมีมติตีตกข้อกล่าวหาไปแล้ว เนื่องจากหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2549 คตส.ได้ใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่การตีตกนั้นไม่ใช่คำสั่งชี้ขาดทางคดี และการไม่สั่งฟ้องศาลจึงลงโทษไม่ได้ แต่เมื่อศาลตัดสินเมื่อวันที่ 26 ส.ค.58 แล้วว่าการกระทำในคดีดังกล่าวเป็นความผิดของคณะกรรมการบริหาร จึงเป็นหน้าที่ของป.ป.ช. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่จะต้องดำเนินการเอาผิดต่อ แต่เหตุใดจึงไม่ทำ
ทั้งนี้ แม้ว่านายอุตตมจะชี้แจงว่าไม่ผิด แต่นายเรืองไกร เห็นว่าควรพิจารณาจากพยานหลักฐานและคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นหลัก คดีปล่อยกู้กรุงไทยในคำพิพากษาตอนหนึ่งระบุว่า "นอกจากคณะกรรมการบริหารจะมีเจตนาฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการให้สินเชื่อที่เล็งเห็นได้ว่าจะเรียกคืนไม่ได้ การอนุมัติสินเชื่อจำนวนถึง 9,900 ล้านบาท โดยมิได้รักษาประโยชน์ของธนาคารผู้เสียหาย"
ฉะนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 (4) บัญญัติว่า รัฐมนตรีต้องมีความชื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ จึงต้องพิจารณาว่านายอุตตมมีความเหมาะสมหรือไม่ ประกอบกับ คสช.เคยใช้มาตรา 44 ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในกรณีที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกรณีเช่นนี้หลายครั้ง จึงควรนำมาพิจารณาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายตามมา
"ไม่ว่า คตส.หรือแบงก์ชาติจะกล่าวหาหรือไม่กล่าวหา เมื่อศาลวินิจฉัยแล้วว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดจาก 5 ท่าน ก็จำเป็นต้องดำเนินการ"นายเรืองไกร กล่าว