นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณี 7 พรรคฝ่ายค้านประกาศจุดยืนแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเตรียมเดินสายให้ข้อมูลประชาชนให้มีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยประชาชนนั้น ประชาชนสามารถเข้ามาเกี่ยวข้องได้โดยการเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือสามารถมีบทบาทในการรณรงค์ให้เกิดความเข้าใจ หรือแสดงความเห็นต่อรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งตรงกับแนวทางที่รัฐบาลต้องการให้มีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นประชาชนอยู่แล้ว
ส่วนการตั้งเวทีอภิปรายจะเป็นการปลุกระดมหรือไม่นั้น คงต้องดูที่เนื้อหาและเจตนา รวมถึงคำพูดว่าเป็นไปในทิศทางการปลุกระดมหรือไม่ แต่มั่นใจว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นการดิสเครดิตรัฐบาล และเป็นสิทธิที่ทุกคนสามารถทำได้
สำหรับกรณีที่ฝ่ายค้านจัด ส.ส.เป็น 4 กลุ่มเพื่ออภิปรายนโยบายรัฐบาลนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่สามารถแสดงความเห็นได้จนกว่าจะมีการแถลงนโยบายในวันที่ 25 ก.ค.นี้ แต่เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เพราะการจัดกลุ่มอภิปรายนั้นเป็นกระบวนการภายในเพื่อบริหารเวลาและการอภิปราย ขณะที่รัฐบาลก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมเช่นกัน
หากเรื่องใดเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด รัฐบาลก็ต้องชี้แจงและตอบคำถาม สิ่งสำคัญคือการจัดลำดับความสำคัญ ในสิ่งที่ฝ่ายค้านจะสอบถามมา ทั้งนี้ในฝั่งของรัฐมนตรี ยังไม่มีใครมาขอคำแนะนำด้านกฎหมายกับตนเอง และไม่ทราบว่าจะมีรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายเรื่องคุณสมบัติถึง 14 คนตามที่มีกระแสข่าว อย่างไรก็ตาม แต่ละคนเคยเป็น ส.ส.มาหลายสมัย เวลาจะพูดโจมตีย่อมรู้กฎเกณฑ์และกติกาเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็มีประธานสภาฯ ที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งเชื่อว่าจะควบคุมการประชุมให้อยู่ในกฎเกณฑ์กติกาได้
นายวิษณุ กล่าวว่า การแถลงนโยบายรัฐบาลเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะแถลงว่าจะทำอะไรต่อไปหลังจากนี้ และสมาชิกก็จะอภิปรายเรื่องนโยบายว่ามีความน่าเชื่อถือและสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นการฝากความเห็นและคำแนะนำให้รัฐบาล โดยไม่มีการลงมติใดๆ โดยถือเป็นแบบแผนการแถลงนโยบายมาทุกยุคทุกสมัย
และเชื่อว่าการแถลงนโยบายครั้งนี้จะไม่เกิดความวุ่นวาย เพราะเชื่อมั่นในเกียรติยศศักดิ์ศรีของ ส.ส.ที่เคยทำหน้าที่มาก่อน เชื่อมั่นในหน้าที่ของประธานสภาฯ และเชื่อมั่นในกฎเกณฑ์กติกา แม้ยังไม่มีข้อบังคับฉบับใหม่ รวมถึงเชื่อว่าการแถลงนโยบายครั้งนี้เป็นการสื่อสารไปยังประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่พูดกันเพียงในที่ประชุมรัฐสภาเท่านั้น
กรณีมีรายงานข่าวว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวในที่ประชุม ครม.ที่ผ่านมาว่า "อย่าทิ้งผม อย่าให้ผมพูดคนเดียว" ถือเป็นสิ่งสะท้อนถึงความกังวลในการแถลงนโยบายหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ยินคำพูดนี้ แต่อาจจะเป็นการเปรยขึ้นมาหลังจากปิดประชุม ครม.ไปแล้ว บางครั้งอาจเป็นการพูดเล่นบ้าง ถือเป็นเรื่องธรรมดา
นายวิษณุ ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องที่ยื่นให้วินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ เพราะเกรงว่าจะเป็นการชี้นำศาล แต่แนะนำให้ไปอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ส่วนจะเป็นการทำให้สังคมเข้าใจผิดหรือไม่นั้น ในความเป็นจริง ความถูกต้องบางครั้งก็ต้องชี้แจงในทันที แต่บางครั้งต้องอาศัยจังหวะที่เหมาะสม และบางครั้งก็ต้องปล่อยให้เรียนรู้กันไปเอง เพราะหากพูดไปก่อนจะถูกย้อนกลับได้ ดังนั้นอาศัยกาละเทศะ เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการตอบโต้กันไปมาไม่จบสิ้น ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน