จับตาการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันที่ 25-26 ก.ค.นี้ ประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายพูดถึงด้วยความเป็นห่วง คือ เสถียรภาพที่เป็นจุดอ่อนของรัฐบาล เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นแกนนำไปรวบรวมเสียงสนับสนุนจากพรรคเล็กพรรคน้อยอีก 18 พรรคการเมืองให้เข้ามารวมกันแล้ว แต่ก็ได้เสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพียง 254 คน เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด 500 คนแค่เล็กน้อย ทำให้กลายเป็น"รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ" ไปโดยปริยาย
เมื่อมีสถานภาพเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำเช่นนี้ ย่อมมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดการเพลี่ยงพล้ำในรัฐสภาได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงที่มีการพิจารณากฎหมายฉบับสำคัญๆ เช่น การเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือกรณีที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
เรื่องนี้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวในงานเปิดสัมมนา เรื่องบทบาทหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับการสนับสนุนการดำเนินงาน และการให้บริการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยย้ำว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ที่เป็นเรื่องสำคัญ หากรัฐบาลแพ้เรื่องนี้ก็อยู่ยาก เพราะปัญหาเสียงปริ่มน้ำ
มุมมองของนักวิเคราะห์อย่าง นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส มองว่า ปัจจัยที่เป็นแรงกดกันต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้เป็นเรื่องของเสถียรภาพทางการเมือง เนื่องจากรัฐบาลมีคะแนนเสียงสนับสนุนไม่เด็ดขาด โดยประเด็นที่ต้องติดตามในไตรมาส 3/62 คือ การพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 63 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในเดือน ก.ย.62 ถือว่าล่าช้ากว่าทุกปีที่ผ่านมาราว 3 เดือน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยต้องการแรงกระตุ้นจากภาคเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก หลังจากภาคการค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าโลก
ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ เปรียบเหมือนแก้วที่ตกผลึกแล้ว และสามารถนำมาใช้งานเป็นประโยชน์กับประชาชนได้ และว่า แก้วเมื่อผ่านการหลอมแล้ว จะไม่กลับไปเป็นเศษดินเศษทรายอีก พรรคพลังประชารัฐก็เช่นกัน หากเราประคองดีๆ มีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันก็จะอยู่ได้นาน แม้จะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ
พรรคฝ่ายค้านได้บอกโจทย์การอภิปรายเนื้อหาแบ่งเป็น 6 กลุ่มคือ 1.ด้านเศรษฐกิจ อาทิ สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ระบบคมนาคม รายได้ท่องเที่ยวที่ลดลง 2.ด้านการเมือง อาทิ กฎหมาย หลักธรรมาภิบาล กรอบคุณธรรม จริยธรรม การทุจริตคอร์รัปชั่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคุณสมบัติของรัฐมนตรี 3.ด้านความมั่นคง อาทิ สิทธิเสรีภาพของประชาชน และการควบคุมสิทธิเสรีภาพด้านโซเชียล
4.ด้านสังคม อาทิ การสาธารณสุขของประเทศ ปัญหายาเสพติด ปัญหาเด็ก สตรี และคนชรา รวมถึงความไม่พร้อมที่จะนำนโยบายกัญชามาใช้กับประเทศไทย 5.ด้านการศึกษา 6.ด้านการกระจายอำนาจ อาทิ การลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมอภิปรายแบ่งกลุ่มรัฐมนตรี 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่ม 3 ป. 2. กลุ่มรัฐมนตรีที่คดีค้างเก่า 3. กลุ่มรัฐมนตรีที่มีคดีกบฏ และ 4. กลุ่มรัฐมนตรีที่ถือหุ้นสื่อ
ปัจจัยสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลมีมากมายหลายเรื่อง ทั้งมาจากซีกของรัฐบาลเอง เช่น การคุมเสียง ส.ส.ภายในพรรคพลังประชารัฐ และเสียง ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาล อันเป็นผลพวงจากความไม่ลงตัวในการจัดสรรตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งรัฐบาล การจัดทำนโยบายรัฐบาล ที่มีกระแสข่าวความขัดแย้งกันเรื่อยมา และการทำงานร่วมกันในระยะต่อไปที่อาจไม่ราบรื่น ขณะที่ซีกฝ่ายค้านนั้นก็คอยจ้องเล็งหาประเด็นโจมตีตลอดเวลาที่มีจังหวะและโอกาส
อย่างไรก็ตาม แกนนำในพรรคพลังประชารัฐมองว่าเสถียรภาพของรัฐบาลไม่ได้อยู่ที่จำนวนเสียงสนับสนุนของ ส.ส.เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับผลงานการบริหารประเทศ เพราะในอดีตเคยมีรัฐบาลที่มีเสียง ส.ส.สนับสนุนในสภาอย่างท่วมท้น แต่ก็อยู่ไม่ได้เพราะถูกมองว่าไม่มีธรรมาภิบาล
นายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุว่า ไม่กังวลเสถียรภาพการทำงานของรัฐบาล แม้จะมีพรรครวมตัวกันเกือบ 20 พรรค เพราะรัฐมนตรีทุกกระทรวงต้องทำตามหน้าที่ ขอเพียงทุกฝ่ายอย่าก้าวก่าย อย่าอิจฉากัน และต้องยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
ส่วนนายไทกร พลสุวรรณ อดีตแกนนำกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ชี้เป้า 4 จุดอ่อนของ ครม.ชุดใหม่ของรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 ประกอบด้วย 1.คุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 2.คุณสมบัติของนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ขัดรัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรมหรือไม่ รวมถึงผลงานการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ 3.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขัดรัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรมหรือไม่ รวมถึงผลงานการดูแลความปลอดภัยของประชาชน และข้อสงสัยเรื่องการครอบครองทรัพย์สิน และ 4.คุณสมบัติของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเป่า รมช.เกษตรฯ ขัดรัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรมหรือไม่ ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขจุดอ่อนดังกล่าวได้เชื่อว่า รัฐนาวาต้องจมก่อนสิ้นปีนี้
ถ้าจะว่าไปแล้วคงมองแต่เสถียรภาพของรัฐบาลว่าจะมีความมั่นคงหรือสั่นคลอนเพียงด้านเดียวไม่ได้ เพราะบทบาทและการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบรัฐสภา หากพรรคร่วมฝ่ายค้านสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพดีก็เป็นเรื่องที่คงสร้างความหนักใจให้กับรัฐบาลไม่น้อย และพรรคร่วมฝ่ายค้านเองก็ต้องมีเสถียรภาพเช่นเดียวกัน