ศาลอาญา มีคำพิพากษายกฟ้อง 4 แกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ได้แก่ นายสกลธี ภัทธิยกุล นายเสรี วงษ์มณฑา นายสมบัติ ธำรงค์ธัญญาวงศ์ และนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม เป็นจำเลย ในคดีความผิดฐานร่วมกันก่อการกบฏ มั่วสุม สร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักไม่เพียงพอว่า จำเลยทั้ง 4 มีเจตนากระทำความผิดจริง แต่เป็นการชุมนุมทางการเมืองตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐบาล ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มีผลย้อนหลังไปถึงปี 2547
ศาลอาญา อ่านคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1191/2557 ที่อ.1298/2557 และที่คดี 1328/2557 คดีทั้งสามสำนวน ศาลสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 4 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ อั้งยี่ ซ่องโจร ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง บุกรุก และความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 จำเลยทั้ง 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานตามที่โจทก์และจำเลยทั้ง 4 นำสืบแล้ว เห็นว่าจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ แม้ฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นแกนนำเคยพากลุ่มผู้ชุมนุมไปสถานที่ต่างๆ และมีเหตุการณ์นำโซ่คล้องประตู ล็อคกุญแจ ตัดไฟฟ้า ปิดล้อมยังสถานที่ต่างๆตามฟ้อง หรือขัดขวางเพื่อมิให้ประชาชนเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่กลับปรากฏจากพยานหลักฐานโจทก์ว่า จำเลยทั้ง 4 ไม่เคยปราศรัยในลักษณะเป็นผู้สั่งการ หรือร่วมกับผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำการใดๆ ที่เป็นความผิดอาญาตามฟ้อง การที่มีเหตุการณ์ใช้โซ่คล้องประตู ล็อคกุญแจ ตัดไฟฟ้าปิดล้อมยังสถานที่ต่างๆตามฟ้อง หรือขัดขวางเพื่อมิให้ประชาชนเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งจึงเป็นการกระทำที่ ถือเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มบุคคลที่กระทำการนั้น ๆ โดยจำเลยทั้ง 4 ไม่ได้มีส่วนร่วมกระทำความผิดนั้นด้วย
ประกอบกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ 54/2556 ที่ 58/2556 ที่ 59/2556 และที่ 21/2557 ก็มีคำวินิจฉัยว่า การที่กลุ่มของนายสุเทพ และกปปส. ออกมาชุมนุมคัดค้านเป็นการชุมนุมของประชาชนเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ถือเป็นการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน โดยมีเหตุผลสืบเนื่องมาจากการต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล จึงเป็นการใช้สิทธิชอบธรรมตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 61 วรรคหนึ่ง และมาตรา 63 วรรคหนึ่งให้การรับรองไว้
การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. จึงเป็นการประชุมทางการเมือง อันเป็นสิทธิของจำเลยทั้ง 4 เช่นเดียวกับประชาชนที่มาเข้าร่วมกับการชุมนุมกับจำเลยทั้ง 4 ถือเป็นการแสดงออกทางเสรีภาพของผู้ชุมนุมที่มีความเห็นตรงกันทางการเมือง ย่อมมีสิทธิที่จะมาร่วมชุมนุมกันได้ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่การชุมนุมเพื่อการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 4 ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง