ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า มีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 210 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 คือ การพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย การพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ และหน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อาทิ เช่น การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ระบอบการปกครองและความมั่นคงแห่งรัฐ การพิจารณากรณีที่กฎหมาย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้อยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงการพิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันได้ แก่ การวินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพหรือคุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาและรัฐมนตรี
ในการพิจารณาหรือวินิจฉัยคดีนั้น ก่อนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับ นักการเมืองหรือประชาชน หรือบุคคลทั่วไปสามารถวิพากษ์วิจารณ์คำสั่ง คำวินิจฉัย หรือการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญได้ ส่วนในกรณีกระทำการเกินเลยไปถึงขั้นดูหมิ่นข่มขู่หรือคุกคามศาล หรือตุลาการ ผู้กระทำอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาในฐานความผิดเรื่องดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือดูหมิ่นศาลฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 หรือมาตรา 198 ตามลำดับ
ปัจจุบันเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561ได้มีผลใช้บังคับแล้ว ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2561 (ราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 135 ตอนที่ 12 ก วันที่ 2 มีนาคม 2561) การวิพากษ์วิจารณ์คำสั่ง คำวินิจฉัย หรือการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตหรือบทบัญญัติของพระราชบัญญัติของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 38 วรรคสาม
โดยการวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยคดีนั้นจะต้องกระทำโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคำ หรือ มีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ซึ่งครอบคลุมถึงการใช้สื่อและสังคมออนไลน์ด้วย ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลที่เข้ามาหรือจะเข้ามาในที่ทำการศาลหรือหรือบริเวณที่ทำการศาลหรือเข้าฟังการไต่สวนของศาล กรณีมีความจำเป็นศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการออกคำสั่งให้บุคคลกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว ตลอดจนมีอำนาจในการออกข้อกำหนดหรือคำสั่งเพื่อให้กระบวนการพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือข้อกำหนดดังกล่าวให้ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาลซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง (3)
การบังคับใช้บทบัญญัติละเมิดอำนาจศาลดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่กรณีและให้กระบวนการพิจารณาคดีดำเนินต่อไปได้ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยทั้งในบริเวณศาล และนอกศาลและป้องกันการประวิงคดีและการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่เกินขอบเขตและไม่สุจริต ทั้งนี้ ศาลจะใช้ตามความจำเป็นเพื่อให้อำนวยความยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและความเป็นธรรม