นายกฯ ชี้แจงสารพัดเรื่องในสภา ภัยแล้ง-การใช้งบประมาณ-ปัญหาชายแดนใต้-จัดซื้อยุทโธปกรณ์

ข่าวการเมือง Thursday July 25, 2019 18:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ชี้แจงเรื่องการแก้ไขปัญหาภัยแล้งว่า ปัญหาเกิดจากปัจจุบันน้ำไม่เพียงพอ ฝนตกใต้เขื่อน จึงทำให้เก็บน้ำได้น้อย และมีการทำการเกษตรที่มากจนเกินไป แต่ยืนยันว่า รัฐบาลพยายามแก้ไขในการหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม รวมถึงหาแนวทางประสานกับต่างประเทศให้มีการปล่อยน้ำเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในแม่น้ำโขง ซึ่งจากการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มมากขึ้น

การที่ฝ่ายค้านท้วงติงเฉพาะเรื่องการหาแหล่งน้ำนั้น ขอชี้แจงว่ารัฐบาลพยายามบริหารจัดการน้ำ และส่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรให้เพียงพอ แต่ทั้งนี้ ต้องควบคุมดูแลให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคด้วย ส่วนการทำฝนหลวงได้ดำเนินการไปแล้วอย่างต่อเนื่องกว่า 5,000 ชั่วโมง

นายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลว่า งบประมาณของรัฐบาลมาจากภาษีของประชาชนและมาจากเงินกู้ ซึ่งการตั้งงบประมาณแบบขาดดุลไว้เผื่อไว้ในกรณีที่รัฐบาลอาจมีความจำเป็นต้องกู้เงิน เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนให้เกิดมูลค่าสูงสุด ซึ่งที่ผ่านมาหลายรัฐบาลก็ตั้งงบประมาณในลักษณะเช่นนี้ แต่อยากให้มองว่าสิ่งที่รัฐบาลนี้ได้ลงทุนไปนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ เช่นโครงการ EEC ส่วนหนี้ของรัฐบาลถือเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ และเพื่อการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน

"ผมถามว่า 2.2 ล้านล้าน ไปทำอะไรมาบ้าง กู้ไปกู้มา เกิดรายได้บ้างหรือเปล่า วันนี้ผมไม่อยากไปก้าวล่วง มีคดีค้างอยู่กว่าอีก 1,000 คดี เตรียมตัวไว้แล้วกัน เรื่องอะไรบ้างก็ไม่รู้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยที่เติบโตน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ฐานเศรษฐกิจของประเทศไทยกว้างกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศไทยมีแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศที่ชัดเจน ซึ่งในขณะนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้พยายามที่จะทำให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอ แต่เคยมีคนกล่าวไว้ว่า การใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สอนให้คนยากจนนั้น ข้อเท็จจริงแล้วปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือการสอนให้คนมีเหตุมีผล มีความพอประมาณ และมีภูมิคุ้มกันที่ดี การมีมากใช้มาก มีน้อยใช้น้อย ซึ่งการมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงนั้น มาจากพฤติกรรมการใช้จ่ายที่มากเกินตัว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงถึงการใช้ภาษาอังกฤษของตนเองที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านว่า แม้ตนเองจะใช้ภาษาอังกฤษไม่เก่ง แต่ก็มีล่าม 15 คน และสามารถพูดทักทาย แต่หากพูดเก่ง แต่พูดไร้สาระ ก็ไม่เกิดประโยชน์

จากนั้น พล.ท.พงศกร รอดชมภู ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ได้อภิปรายถึงการดูแลความสงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการปรับโครงสร้างกองทัพ

ซึ่งนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า รัฐบาลดูแลและรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ บนพื้นฐานของหลัก 3 M คือ ความเชื่อมั่น ความเคารพ และผลประโยชน์ที่เท่าเทียม ซึ่งทุกกลุ่มประเทศก็ยึดหลักการเดียวกัน และไทยยังมีนโยบายด้านต่างประเทศที่เชื่อมโยงกลุ่มต่างๆ ทั้งหมด ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ซึ่งมีความก้าวหน้าไปมาก

ในส่วนที่สองคือการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีมายาวนาน และหลักการของไทยไม่เหมือนกับของต่างประเทศ เพราะบางหลักการใช้กับประเทศไทยไม่ได้ ขณะเดียวกันการใช้คำว่าสิทธิมนุษยชนจนมากเกินไปด้วยความไม่เข้าใจ ทำให้เกิดปัญหามากขึ้น โดยคำว่าสิทธิมนุษยชน การละเมิดกฎหมายต่างๆ ล้วนเป็นเส้นเดียวกันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีการจับกุมผู้กระทำความผิดก็ให้ความเป็นธรรมและดูแลอย่างเท่าเทียมกัน หากพบเจ้าหน้าที่ทำผิดก็ลงโทษ

ทั้งนี้ ยืนยันว่า รัฐบาลทำงานนำหน้าด้วยคำว่าการพัฒนาเป็นสำคัญ และที่ผ่านมาพบว่าสถิติการลงทุนในภาคใต้เพิ่มมากขึ้น แม้จะประมาณ 1% ก็ตาม แต่ก็ถือว่าดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าหากมีความปลอดภัยในพื้นที่ก็จะมีการลงทุนมากขึ้น

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ปัญหาชายแดนภาคใต้ไม่ได้เกิดขึ้นจากภาครัฐ เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เคยทำร้ายใคร แต่เพราะเจ้าหน้าที่และประชาชนถูกทำร้ายก่อน จึงต้องดำเนินการเพื่อให้เหตุการณ์สงบ พร้อมเรียกร้องว่า เหตุใดจึงไม่เคยมีการออกมาร้องเรียน เมื่อเจ้าหน้าที่ถูกลอบทำร้ายจนเกิดความสูญเสียระหว่างการปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชน แต่เมื่อผู้กระทำความผิดถูกจับ กลับมีการร้องเรียนว่ารัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้นขอให้ดูให้ดี โดยขั้นตอนต่างๆ มีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว รวมถึงมียุทธศาสตร์ชาติ และการพูดคุยสันติสุข ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ย้ำว่าการแก้ปัญหาความไม่สงบนั้น รัฐบาลมุ่งเน้นการพัฒนาและทำความเข้าใจ โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเจรจากับต่างประเทศแล้ว เช่น กลุ่ม AEC ซาอุดิอาระเบีย ประเทศหมู่เกาะต่างๆ ซึ่งล้วนพอใจการแก้ปัญหาของประเทศไทย มีแต่ประเทศไทยกันเองที่ไม่พอใจ

ขณะที่ในส่วนของอาวุธยุทโธปกรณ์ ได้จัดซื้อสิ่งที่สามารถซื้อได้ตามงบประมาณที่มีและมีคุณภาพเพียงพอเหมาะสม ซึ่งข้อร้องเรียนการทุจริตต่างๆ ก็ขอให้ไปหาหลักฐานมา หากพบความผิดก็ดำเนินคดีอย่างที่สุด พร้อมทั้งได้ผลักดันอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศให้สามารถดำเนินการได้ในพื้นที่ EEC และพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสม เพื่อรองรับการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ให้เป็นอุปกรณ์ที่สามารถใช้งานได้นานที่สุด ซึ่งงบประมาณที่ได้มาก็ไม่ได้ถือเป็นจำนวนที่สูงมาก คือปีละ 1.75% เท่านั้น ส่วนการจัดซื้อเรือดำน้ำก็ไม่ได้ฟุ่มเฟือย เพราะรอถึง 6 ปี ถึงจะซื้อมาได้ 1 ลำ โดยพิจารณาอย่างรอบคอบ และดูความคุ้มค่าอย่างรอบด้านด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ