นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยยก 19 นโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปีแรก และนโยบายระยะยาวช่วง 4 ปี ชี้แจงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)
"รัฐบาลเชื่อมั่นว่านโยบายดังกล่าวจะสร้างความยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจและสังคมไทย ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนไทย นักลงทุนต่างชาติ และประชาคมโลก" นายสมัคร ระบุ
รัฐบาลกำหนดหลักการที่จะบริหารประเทศในช่วง 4 ปีที่สำคัญไว้ 2 ประการ คือ การสร้างความสมานฉันท์ในชาติ และ การสร้างความสมดุลและภูมิคุ้มกันให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ โดยประเด็นหลักคือการเตรียมความพร้อมเพื่อเผชิญผลกระทบจากปัจจัยภายนอก 2 ประการ คือ ปัญหาซับไพร์มและปัญหาราคาน้ำมันแพง
ส่วนนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปีแรก 19 ข้อ จะมุ่งสร้างความสมานฉันท์ในสังคม, สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน และฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง แก้ปัญหาความยากจน โดยพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อเพิ่มศักยภาพการหารายได้ ลดรายจ่าย ตลอดจนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญเร่งด่วน
นโยบายเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ และสร้างเสถียรภาพทั้งด้านการเมือง การปกครอง สังคม และเศรษฐกิจ, 2.แก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้แนวทางพระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"
3. เร่งแก้ปัญหายาเสพติดและปราบปรามผู้มีอิทธิพล ลดปริมาณผู้เสพและป้องกันกลุ่มเสี่ยงใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนควบคู่กับมาตรการปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม, 4.แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการ โดยดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท ระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและราคาพลังงานให้เหมาะสมและเป็นธรรมต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต
5. เพิ่มศักยภาพของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ให้สามารถยกระดับเป็นธนาคารหมู่บ้านและชุมชน, 6.จัดสรรงบประมาณตามขนาดประชากร(SML) ให้ครบทุกหมู่บ้านและชุมชน, 7.สานต่อโครงการธนาคารประชาชน เพื่อกระจายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ลดการพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ
8. สนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชนผ่านสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารเอสเอ็มอี,9. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ 10.พักหนี้ของเกษตรกรรายย่อยและยากจนผ่านกระบวนการจัดทำแผนฟื้นฟูอาชีพ, 11.สร้างระบบประกันความเสี่ยงให้เกษตรกร เพื่อลดความเสี่ยงอันเนื่องมาจากผลกระทบความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และสร้างกลไกในการสร้างเสถียรภาพราคาของสินค้าเกษตรที่เป็นธรรม
12.ขยายบทบาทของศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน(Fix-it Center)และสถาบันอาชีวศึกษา เพื่อให้คำแนะนำและถ่ายทอดความรู้ในการใช้ การดูแลรักษาและซ่อมบำรุงเครื่องมืออุปกรณ์การประกอบอาชีพ, 13.สร้างโอกาสให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยอย่างทั่วถึง เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร บ้านรัฐสวัสดิการ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่สามารถเดินทางเชื่อมระหว่าง กทม.และปริมณฑลด้วยระบบขนส่งมวลชนได้อย่างสะดวก
14.เร่งรัดการลงทุนที่สำคัญของประเทศ เช่น การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนใน กทม.และปริมณฑล 9 สาย รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และรถไฟชานเมือง และรถไฟก้างปลาเชื่อมโยงจังหวัด และการพัฒนาขีดความสามารถของท่าอากาศยานสากล, 15.ใช้มาตรการลดผลกระทบจากราคาพลังงาน โดยเร่งรัดโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน รวมทั้งเร่งมาตรการประหยัดพลังงาน
16.ฟื้นความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยประกาศให้ปี 2551-2552 เป็น" ปีแห่งการลงทุน" และ "ปีแห่งการท่องเที่ยวไทย", 17.วางระบบการถือครองที่ดินและกำหนดแนวเขตการใช้ที่ดินให้ทั่วถึงและเป็นธรรม โดยใช้ข้อมูลระบบภูมิสารสนเทศภายใต้กระบวนการที่ชุมชนมีส่วนร่วม
18. ขยายพื้นที่ชลประทานและเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน โดยฟื้นฟูและขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งพัฒนาแหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน และ 19.เร่งรัดมาตรการและโครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติโลกร้อน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลยังมีนโยบายอีก 7 ด้านที่จะดำเนินการภายในช่วงระยะเวลา 4 ปี ประกอบด้วย 1.นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต โดยจะให้ความสำคัญกับการให้หลักประกันขั้นพื้นฐานของบริการสาธารณะของรัฐภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ การพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพ การมีสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในชีวิต และประชาชนมีความสุข
โดยนโยบายสังคม แบ่งเป็น นโยบายการศึกษา, นโยบายแรงงาน, นโยบายการพัฒนาสุขภาพประชาชน, นโยบายศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และนโยบายความมั่นคงของชีวิตและสังคม
2.นโยบายเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะบริหารจัดการเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีความสมดุลเข้มแข็งทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศ มีภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกทั้งด้านการค้าและการลงทุน ตลอดจนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
โดยนโยบายเศรษฐกิจ แบ่งเป็น นโยบายการเงินการคลัง, นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ, นโยบายโครงสร้างพื้นฐาน และระบบบริหารจัดการขนส่งมวลชนสินค้าและบริการ, นโยบายพลังงาน และนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ
3.นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลจะให้ความสำคัญแก่บทบาทของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญแก่การบริหารจัดการอย่างบูรณาการระหว่างมิติของเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเพิ่มบทบาทร่วมของประชาชนและชุมชน
4. นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยรัฐบาลจะตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และการยกระดับคุณภาพชีวิต
5. นโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลจะดำเนินบทบาทเชิงรุกในการส่งเสริมความร่วมมือและขยายความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ยึดมั่นในพันธกรณีที่มีอยู่กับต่างประเทศ และเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ สานต่อทีมไทยแลนด์เพื่อให้การดำเนินการด้านต่างประเทศมีประสิทธิภาพ และมีเอกภาพ
6.นโยบายความมั่นคงของรัฐ รัฐบาลจะรักษาความมั่นคงของประเทศ สถาบันพระมหากษัตริย์ และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ เตรียมความพร้อมในการเผชิญภัยคุกคามทุกรูปแบบ ทั้งภัยธรรมชาติและความขัดแย้งที่อาจส่งผลกระทบถึงประเทศไทย ตลอดจนการแก้ไขความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้
และ 7.นโยบายการบริหารจัดการที่ดี โดยรัฐบาลจะพัฒนาและปรับปรุงระบบการบริหารงานภาครัฐ เพื่อให้ส่วนราชการมีความพร้อมและกำลังคนที่มีขีดความสามารถในการปฏิบัติงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล มีความคุ้มค่า ตลอดจนปรับปรุงกฎหมายและการยุติธรรม สนับสนุนการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินนโยบายสาธารณะ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนให้มีการศึกษาทบทวนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและเป็นประโยชน์ต่อการบริหารประเทศให้ดียิ่งขึ้นในเวลาอันควร
"รัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นแก่รัฐสภาอันเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินว่าจะบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีความมุ่งมั่นที่จะบริหารประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า ทัดเทียมอารยประเทศ สร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมที่มีความสมดุลมากขึ้น และให้คนไทยมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ทั้งนี้โดยยึดประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริง" นายสมัคร กล่าวสรุปในตอนท้าย
เบื้องต้นตัวแทนทั้ง 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน และ สนช.ตกลงกำหนดระยะเวลาอภิปรายไว้ทั้งสิ้น 36 ชั่วโมง โดยมีสัดส่วนของฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล 10 ชั่วโมง, ฝ่ายค้าน 13 ชั่วโมง, สนช. 9 ชั่วโมง และ ครม. 4 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ไม่รวมกับเวลาของนายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรค
--อินโฟเควสท์ โดย ฐานิสร์ ทองนอก/กษมาพร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--