ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยุติคำร้อง"เสรีพิศุทธ์"พร้อมระบุประชุมร่วมรัฐสภาเลือกนายกฯ เป็นไปตามรธน.ไม่ได้ละเมิดสิทธิผู้ร้อง

ข่าวการเมือง Tuesday August 27, 2019 14:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการวินิจฉัยกรณีคำร้องของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ให้พิจารณาส่งคำร้องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเให้พิจารณาวินิจฉัย ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 กรณีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 3 และการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 159 วรรคสอง และ มาตรา 272 วรรคแรก เป็นการละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียน

ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติยุติเรื่องร้องเรียน และไม่เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยพิจารณาเห็นว่า ตามมาตรา 272 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล บัญญัติไว้ว่า"ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา" อันเป็นบทยกเว้นมาตรา 159 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม แม้มิได้บัญญัติยกเว้นมาตรา 159 วรรคสองไว้ด้วยก็ตาม

แต่มาตรา 159 วรรคสอง เป็นเพียงการกำหนดหลักเกณฑ์ในการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องเรียนของผู้ร้องเรียนและคำชี้แจงของผู้ถูกร้องเรียนว่า ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ผู้ถูกร้องเรียนได้จัดให้มีการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีสมาชิกผู้แทนราษฎรเสนอชื่อจำนวน 2 ท่าน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองโดยเปิดเผยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านใดเสนอรายชื่อเพิ่มเติม ผู้ถูกร้องเรียนจึงดำเนินการให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายและให้ความเห็นชอบต่อไป ดังนั้นจึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 159 วรรคสอง การกระทำของผู้ถูกร้องเรียนเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว มิได้มีลักษณะเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียน และรับฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเรียนเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ที่จะให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงวินิจฉัยให้ยุติเรื่องร้องเรียน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ