นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แนะให้รัฐบาลยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นหัวใจสำคัญในการวางกรอบการบริหารจัดการนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้นโยบายการบริหารราชการแผ่นดินมีทั้งความโปร่งใสควบคู่กับความมีประสิทธิภาพ
เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลบางชุดบริหารจัดการนโยบายด้วยความโปร่งใสแต่ยังขาดประสิทธิภาพ จึงกังวลว่ารัฐบาลชุดนี้จะบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่ขาดความโปร่งใส
"บางรัฐบาลบริหารจัดการนโยบายด้วยความระมัดระวังเพื่อให้เกิดความโปร่งใส แต่อาจจะไม่มีประสิทธิภาพ สำหรับรัฐบาลปัจจุบันผมเกรงว่าจะเน้นเรื่องประสิทธิภาพ แต่ขาดความระมัดระวังเรื่องความโปร่งใส ผมอยากเห็นรัฐบาลมีภูมิคุ้มกันในการบริหารราชการแผ่นดินโดยใช้หลักธรรมาภิบาลมาเป็นเกราะป้องกันตัวเอง" นายสังศิต กล่าว
นายสังศิต ยังฝากถึงนโยบายประชานิยมของรัฐบาลชุดปัจจุบันว่ามี 4 กรอบที่ขอให้ช่วยดูแล ประกอบด้วย 1.การบริหารนโยบายควรส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งตนเองมากกว่าหวังพึ่งรัฐบาลในระยะยาว 2.ต้องการเห็นนโยบายประชานิยมของรัฐบาลช่วยสร้างความปรองดองระหว่างผลประโยชน์ระยะสั้นที่ประชาชนจะได้รับกับสิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับในระยะยาว 3.ขอให้รัฐบาลนำหลักธรรมาภิบาลมาบริหารจัดการทั้งในภาครัฐและภาคประชาชน และ 4.ต้องการเห็นรัฐบาลนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาให้ประชาชนนำไปปฏิบัติ
นายสังศิต มองว่า นโยบายของรัฐบาลเรื่องการบริหารจัดการที่ดีนั้น ถือเป็นนโยบายที่ดีแต่ยังเน้นเรื่องการพัฒนาความรู้ความสามารถในการปฏิบัติราชการ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของราชการในลักษณะปัจเจกบุคคลมากกว่ามุ่งพัฒนาธรรมาภิบาลในเชิงโครงสร้างและระบบ อีกทั้งในนโยบายรัฐบาลนี้ยังพูดถึงเรื่องการปราบปรามทุจริตคอรัปชั่นไว้น้อยมาก
พร้อมกันนี้ได้ชี้จุดอ่อนของนโยบายรัฐบาลในเรื่องการปราบทุจริตคอรัปชั่นว่า การที่รัฐบาลหวังว่าจะดูแลข้าราชการมิให้กระทำการทุจริตได้นั้นคงดูแลได้เฉพาะการทุจริตในระดับเล็กเท่านั้น แต่คงไม่สามารถควบคุมการทุจริตในระดับใหญ่ที่เป็นปัญหาของประเทศได้ ซึ่งการทุจริตระดับใหญ่มักเป็นการร่วมมือระหว่างนักการเมือง นักธุรกิจ และข้าราชการ นอกจากนี้ยังมองว่าไม่สามารถป้องกันการทุจริตเชิงโครงสร้างที่เป็นรูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับกลุ่มธุรกิจได้
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--