นายอดิศร เพียงเกษ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่อยู่ในเหตุการณ์เดือนตุลาฯ แนะให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ใช้โอกาสนี้ขอโทษประชาชนแทนที่จะออกมาพูดตอบโต้ พร้อมทั้งเสนอให้ตั้งคนกลางขึ้นมาชำระประวัติศาสตร์
"ไม่ควรเอาศพวีรชนมาพูดเล่นๆ มีเรื่องอื่นมากมายที่นายสมัครควรจะพูด ไม่เข้าใจทำไมถึงพูดเรื่องนี้บ่อยๆ ระวังมิตรจะกลายเป็นศัตรู เพราะพูดไปแล้วก็ไม่ได้สร้างความปรองดองให้กับประเทศ ขอร้องอย่ามาล้อเล่นกับประวัติศาสตร์ วันนี้น่าจะขอโทษประชาชนมากกว่า" นายอดิศร กล่าว
การที่ตนเองพูดเรื่องนี้ขึ้นมาไม่ใช่หวังโค่นล้มรัฐบาล แต่คนที่เกี่ยวข้องกับการสังหารนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ต้องชดใช้กรรม และเรื่องนี้ไม่ใช่การฟื้นฝอยหาตะเข็บ เพราะประวัติศาสตร์ที่เป็นบาดแผลสังคมควรได้รับการสะสาง ถ้าคิดว่าเป็นการฟื้นฝอยเราก็จะลืมเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 หรือลืมเรื่องกบฏบวรเดช
"อย่างประเทศเวียดนาม เขาก็ปิดประวัติศาสตร์ตัวเองไปแล้วว่าชนะอเมริกา แต่เรายังมีประวัติศาสตร์ที่คาใจกันอยู่ทำให้เวียดนามแซงเราไปแล้ว และที่พูดเรื่องนี้ก็ไม่ใช่การโค่นล้มรัฐบาลด้วย" นายอดิศร กล่าว
ในสมัยที่ตนเองเป็น รมช.ศึกษาธิการ เคยพยายามที่จะให้มีการชำระประวัติศาสตร์ แต่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 และ 6 ตุลาฯ 19 นั้นไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีความเห็นขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับข้อเท็จจริง
"เมื่อวันนี้มีการพูดถึงกันมากก็ควรที่ใช้โอกาสนี้ชำระประวัติศาสตร์ ซึ่งสมัยผมเป็น รมช.ศึกษาฯ ได้พยายามชำระประวัติศาสตร์ 3 เรื่อง แต่สำเร็จไปเรื่องเดียวคือกรณีเสรีไทยที่ทุกฝ่ายมีความเห็นทางประวัติศาสตร์ตรงกัน" นายอดิศร กล่าว
นายอดิศร กล่าวว่า แม้ตนเองจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ โดยตรง แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการปกครองแบบเผด็จการ ซึ่งครอบครัวของตนเองต้องหนีเข้าป่าจนน้องชายต้องเสียชีวิต
"ไม่ใช่เรื่องที่จะมาพูดกันเล่นๆ หรือพูดแล้วมีความสุข เพราะเป็นเหตุการณ์แห่งความสูญเสียจึงอยากให้ทุกฝ่ายสงบสติอารมณ์ สงบปากสงบคำเพื่อร่วมกันสร้างความเป็นจริง" นายอดิศร กล่าว
ส่วนกรณีที่นายสมัครสาบานกลางที่ประชุมสภาว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารนักศึกษาในเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น นายอดิศร กล่าวว่า "ความจริงกรณีสังหารประชาชนในมัสยิดกรือเซะ รัฐมนตรีที่รับผิดชอบก็ไม่ได้สั่งให้ยิงประชาชนโดยตรง" พร้อมเสนอให้ตั้งคนกลางเข้ามาร่วมชำระประวัติศาสตร์ เพราะหากจะให้รัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มก็อาจถูกมองได้ว่าตั้งกรรมการขึ้นมาช่วยเหลือตัวเอง
"ไม่ควรเอาคนที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มาเกี่ยวข้อง เพราะพวกเราถูกมองว่าเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ไปแล้ว ที่พ่ายแพ้ต่ออุดมการณ์ในการต่อสู้กับขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์ในป่า" นายอดิศร กล่าว
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย กล่าวว่า กรณีที่มีการกล่าวหาว่านายสมัครสั่งสังหารนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นั้นเป็นความเข้าใจผิด เพราะขณะนั้นตนเองเป็นตำรวจในสังกัดกองปราบปราม ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ฝั่งตรงข้ามหอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
"ผมอยู่แถวนั้น ตอนช่วงเช้ามืดวันที่ 6 ตุลาฯ 19 ตำรวจกองปราบปรามคนหนึ่งที่ตายไปแล้ว วันนั้นเมาเหล้าแล้วทำปืนลั่น ซึ่งตำรวจนายนั้นยืนข้างๆ ผม ตรงนี้มันพัฒนาไปสู่การต่อสู้และทำร้ายซึ่งกันและกัน ฉะนั้นคนที่กล่าวหานายสมัครจึงเข้าใจผิดเพราะขณะเกิดเหตุ นายสมัครยังไม่ได้เป็น รมว.มหาดไทย" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
"คนพูดนั้นเลอะเทอะ พูดไม่รู้เรื่อง รู้ไหมใครรู้เรื่องดีที่สุด นายสุธรรม แสงประทุม อดีตเลขาธิการ สนนท.ที่โดนจับไปขังที่กองปราบสามยอด ผมไปเยี่ยมนายสุธรรมเป็นคนแรก เอาข้าวและน้ำไปให้ เอาเสื้อผ้าไปให้เปลี่ยน เพราะไม่มีใครกล้าไปเยี่ยม ผมพูดได้เพราะเคยตามนายสุธรรมในช่วงนั้น" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ส่วนกรณีที่นายสมัครระบุมีนักศึกษาตายเพียงคนเดียว ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนไม่ทราบเพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ คิดว่านายสมัครคงเห็นแค่นั้น แต่ยืนยันได้ว่าตอนนั้นนายสมัครยังไม่เป็น รมว.มหาดไทย
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ช่วงนั้นที่สถานีวิทยุยานเกราะมีการจัดรายการปลุกระดมมวลชนให้ไปทำร้ายนักศึกษา โดยนักจัดรายการช่วงนั้น ได้แก่ นายอาคม มกรานนท์, ทมยันตี, พ.อ.อุทาน สนิทวงศ์ และนายอุทิศ นาคสวัสดิ์ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับฝ่ายซ้าย แต่เรื่องมันจบแล้วก็ขอให้เลิกกัน ขอให้สมานฉันท์
"ผมก็อยู่ในเหตุการณ์แต่ไม่เห็นคนตาย ผมรู้เพียงมีการแขวนคอในหนังสือพิมพ์ และไม่รู้ว่าภาพนั้นมาจากไหน และเรื่องนี้อายุความก็ขาดแล้ว" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย รฐฦ/ธนวัฏ/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--