คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นมติร่วมของ 7 พรรคฝ่ายค้านที่จะร่วมรณรงค์กันในช่วงต่อจากนี้ โดยพรรคเพื่อไทยเตรียมการเสวนาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อรวบรวมมุมมองหลากหลายไม่เพียงเฉพาะการเมือง เพราะเห็ฯว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีการหารือกับ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านที่จะขอให้เลื่อนญัตติการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณาก่อน เพราะมีพรรครัฐบาลได้ยื่นเรื่องขอให้ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนญเช่นกัน
"เราต้องทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาก็เห็นภาพจากการเลือกตั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเลือกตั้ง การแบ่งเขต หรือการนับคะแนนด้วยสูตรมหัศจรรย์ หลายๆอย่าง ตรงนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนได้ทดลองใช้รัฐธรรมนูญไปแล้วกับการเลือกตั้ง แต่ที่สำคัญก็คือรัฐธรรมนูญนี้จะเป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโตของประเทศ ทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เพราะไม่เอื้อต่อการให้อำนาจหรือสิทธิประชาชนมากนัก รวมทั้งยังมีการระบุแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ไม่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ตรงนี้เป็นประเด็นแรกที่เราจะทำความเข้าใจ"
"วันนี้คิดว่าพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าเห็นแก่ส่วนรวมร่วมกัน เห็นแก่ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล เราสามารถทำงานร่วมกันในเรื่องนี้ได้ อยากจะเชิญชวนพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกันเลื่อนญัตตินี้ขึ้นมาพิจารณาได้ก่อนปิดสมัยประชุมนี้ รวมถึงพรรคอื่นๆด้วย เราขอชวนมาให้มาร่วมกันทำงานในเรื่องนี้" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
ด้านนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ประชุมหารือถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดทิศทางให้การทำงานสอดรับกับประชาชน และสอดคล้องการทำงานในสภาฯ โดยมีข้อเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาหาวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากขณะนี้ประธานสภาฯไม่ได้บรรจุเป็นญัตติด่วน แม้ว่าเรื่องนี้จะสามารถทำได้ทันที โดยอาศัยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ
ในชั้นนี้เราไม่ได้ขอความร่วมมือจาก ส.ว.เพียงแต่จะขอความร่วมมือจากพรรคการเมืองที่เคยประกาศไม่สนับสนุนรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ก่อนหน้าประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หากพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมยกมือสนับสนุนให้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ จะเป็นคุณูปการให้กับประชาชน
"ขอเรียกร้องให้มีการบรรจุเป็นญัตติด่วน ให้ทันก่อนปิดสมัยประชุมในวันที่ 18 ก.ย. เพราะหากรอไปสมัยประชุมหน้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยิ่งล่าช้าออกไป เนื่องจากกระบวนการแก้ไขนั้นใช้เวลานาน การพิจารณาญัตติใช้เวลา 90 วันหรือ 3 เดือน หากสภาฯเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้เวลาพิจารณาอีก 30 วัน ถ้าแก้ไขโดยตั้ง สสร. ขั้นตอนการเลือกสสร. ใช้เวลาถึง 4 เดือน จากนั้นสสร.มาร่างรัฐธรรมนูญอีก 8 เดือน เมื่อเข้าสู่การทำประชามติ ใช้เวลาประมาณ 120-150 วัน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 2 ปี เป็นเหตุผลว่า ทำไมเราต้องเสนอให้มีการแก้ไขโดยเร็ว โดยอาศัยเสียงข้างมากเพื่อให้ทันในสมัยประชุมนี้ เพราะกว่าจะแก้ไขเสร็จ อาจจะครบเทอมรัฐบาลพอดี ขอยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาล ด้านบริหารก็ทำงานไป แต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ"