(เพิ่มเติม) "ชวน"ยันสภาฯ ยังเดินหน้าอภิปรายทั่วไปปมถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนแม้ศาล รธน.ไม่รับคำร้อง

ข่าวการเมือง Thursday September 12, 2019 13:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ที่กำหนดไว้ในวันที่ 18 ก.ย.62 ว่า ทุกอย่างยังเป็นไปตามวาระปกติของสภาฯ เพราะแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นไม่รับคำร้องไว้พิจารณานั้น ก็ไม่เกี่ยวกับการทำงานของสภาฯ การอภิปรายแบบไม่ลงมตินี้เป็นเรื่องการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญที่เขียนกำหนดไว้ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิอภิปราย ซักถาม เสนอแนะ และให้คำแนะนำ ซึ่งการอภิปรายจะเป็นไปตามกรอบข้อบังคับการประชุมสภาฯ

ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณตนของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความชอบธรรมของสภาผู้แทนราษฎรที่จำเป็นจะต้องปฏิบัติหน้าที่ในการอภิปราย เหตุผลที่ศาลหยิบยกขึ้นมาใช้ คือมองว่าประเด็นการถวายสัตย์ฯ นั้นเป็นเรื่องของการกระทำของรัฐบาล องค์กรตุลาการจะไม่เข้าไปตรวจสอบ

"เมื่อเป็นเรื่องทางการเมืองเช่นนี้ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าสภาฯ มีความชอบธรรมที่จะแก้ปัญหาทางการเมือง และมองว่าการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนของนายกรัฐมนตรี แสดงถึงความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญว่า หากมีนายกฯ ท่านหนึ่งกล่าวคำถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ เราจะทำเช่นไร และจะมีบรรทัดฐานอย่างไร ส.ส.ในฐานะผู้แทนของราฎรที่เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด เรามีความชอบธรรมและจะต้องอภิปรายตรวจสอบเพื่อหาทางออกให้กับ ครม." นายปิยบุตรระบุ

สำหรับการตรวจสอบนั้น จะมีการตรวจสอบหลายรูปแบบ ทั้งในทางกฎหมายซึ่งศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด และการตรวจสอบทางการเมืองต่อสาธารณชน โดยส่วนใหญ่ผ่านช่องทางสภาฯ

อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดสรรตัวบุคคลที่จะอภิปราย ขณะนี้ยังไม่ได้หารือกันอย่างละเอียดว่าจะจัดสรรเวลากับพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างไร ซึ่งมีเวลาอภิปรายเรื่องนี้ประมาณ 10 กว่าชั่วโมง

ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวยืนยันว่า ฝ่ายค้านจะเดินหน้าต่อในการอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ ในวันที่ 18 ก.ย.นี้ เพราะจากคำชี้แจงของศาลระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยและไม่มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญใดมีอำนาจวินิจฉัย ซึ่งองค์กรตามรัฐธรมนูญที่ว่านั้น คือองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปรามปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นต้น ก็ยิ่งชอบธรรมที่สภาต้องตรวจสอบเรื่องนี้ สภายิ่งโล่งและต้องพูดคุยเพื่อหาข้อสรุป

ประกอบกับการอภิปรายดังกล่าวยังมีเรื่องการแถลงนโยบายรัฐบาลไม่แสดงที่มาของงบประมาณ ดังนั้น ต้องเดินหน้าอภิปรายตามมาตรา 152


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ