นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้าน แถลงเปิดการอภิปรายญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 โดยระบุว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณในวันที่ 16 ก.ค.62 ขาดสาระสำคัญ คือ "ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ" ซึ่งเป็นคำสำคัญจึงถือว่า ครม.ชุดนี้ปฏิบัติสิ่งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ และมีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.หลังจากนั้น โดยเฉพาะการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
"ท่านนำ ครม.เข้าถวายสัตย์แล้วหลายครั้ง แต่รอบนี้ท่านมีเจตนาไม่ใช้เอกสารของสำนักงานเลขาธิการนายกฯ มีเจตนาจะไม่กล่าวคำสำคัญตามรัฐธรรมนูญหรืออย่างไร และจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร"นายสมพงษ์ กล่าว
นอกจากนั้น ในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภานั้นไม่มีรายละเอียดของการใช้งบประมาณ เช่น นโยบายหลักประเด็นการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมืองด้วยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ, เร่งรัดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ นโยบายดังกล่าวรัฐบาลต้องใช้งบประมาณมหาศาล แต่ ครม.ไม่ได้ชี้แจงวงเงินงบประมาณเพื่อใช้ดำเนินการนโยบาย จะอ้างว่าใช้งบประมาณแผ่นดินไม่ได้
นายสมพงษ์ กล่าวว่า พฤติกรรมที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมา เช่น การใช้อำนาจฉีกรัฐธรรมนูญเมื่อปี 57 รวมถึงการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน ไม่ชี้แจงรายละเอียดงบประมาณ คือสิ่งที่นายกฯ ฐานะผู้นำประเทศแสดงให้เห็นว่าไม่มีวุฒิภาวะ ไม่ยินยอมรับฟังข้อท้วงติงจากผู้หวังดีทุกฝ่าย ไม่รับรู้ว่าตนเองทำสิ่งใดผิดหรือถูกและสมควรแก้ไขให้ถูกต้องอย่างไร ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นลูกโซ่ เพราะกระทำผิดรัฐธรรมนูญเสมอ
"ผมมองว่าสิ่งดังกล่าวจะกระทบต่อความเชื่อมั่น ผู้นำและครม. ขาดการยอมรับนับถือ ถือเป็นมลทิน ถูกตำหนิ และถูกนินทามาตลอด ดังนั้น ครม.จะพาสังคมที่วิกฤติให้อยู่รอดได้อย่างไร" นายสมพงษ์ อภิปรายสรุป
ขณะที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวในการอภิปรายโดยเรียกร้องพล.อ.ประยุทธ์ แสดงความรับผิดชอบทางการเมืองด้วยการลาออกจากตำแหน่ง
"การลาออก เป็นประเพณีความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารที่ทำกัน ฝากบอกนายกฯ ด้วยว่าใช้ความกล้าหาญทางทหารลุกและเปล่งเสียงชัดๆ ว่าผมขอลาออก แสงสว่างจะเกิดกับประเทศทันที ขอให้ทำเพื่อคนไทยสักครั้ง"น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว
น.อ.อนุดิษฐ์ ย้ำว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ก่อน ครม.เข้ารับหน้าที่ถือเป็นพิธีกรรมการเริ่มต้นใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร และทุกประเทศต้องถือปฏิบัติตามรูปแบบของกฎหมายที่ฝ่ายบริหารต้องทำอย่างถูกต้องครบถ้วน หากกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่สมบูรณ์จะไม่สามารถเข้ารับหน้าที่ได้ เพราะการกล่าวคำถวายสัตย์ฯ ต้องกล่าวด้วยความจริง และเป็นการให้คำสัญญากับประชาชนผ่านองค์พระมหากษัตริย์ หากไม่ทำตามรูปแบบก็ถือว่าการกระทำหรือใช้อำนาจจากนั้นคือโมฆะ
"นายกฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ คือการให้สัญญากับประชาชน แต่นายกฯ ตัดถ้อยคำที่ว่าจะรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ คือ การไม่ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนว่าจะทำตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหากรัฐบาลไม่มีเรื่องทุจริต ไม่มีเรื่องโกง ไม่คอร์รัปชั่น แต่รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เช่น ไม่จัดงบประมาณให้ประชาชนเรียนฟรี โดยอ้างว่าไม่มีงบประมาณ หรือ กรณีที่จัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 3 แสนล้านบาท โดยแจกเงินให้คนละ 1,500 บาทเพื่อท่องเที่ยวนั้น ท่านบอกว่าพอใจ แต่สังคมมีคำถามว่าทำได้แค่นี้เองหรือ
ดังนั้นหากนายกฯ ไม่กล่าวคำที่ขาดไป แสดงว่าฝ่ายค้านจะไม่สามารถเอาผิดรัฐบาลได้ เพราะไม่เคยให้สัญญาว่าจะทำตามกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรณีดังกล่าวถือว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับประชาชน อีกทั้งการทำหน้าที่ของ ครม. การกระทำที่ทำหลังจากนั้น จะถือว่าโมโฆะ ใช่หรือไม่" น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว
ส่วนการแถลงนโยบายที่ไม่ระบุรายละเอียดงบประมาณนั้น อาจมีปัญหาเรื่องการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณด้วย