"วันนอร์"ระบุนายกฯ ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบผิดจริยธรรมร้ายแรง แนะช่องนำเรื่องเข้าสู่ศาลฎีกา

ข่าวการเมือง Wednesday September 18, 2019 14:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ กรณีนายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วน โดยระบุว่า การกระทำดังกล่าวนอกจากเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นประเด็นที่ถือเป็นการกระทำผิดจริยธรรมร้ายแรงด้วยเช่นกัน ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ.2562 ซึ่งได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ เม.ย.62 ที่ผ่านมา

"มาตรฐานจริยธรรมนี้ ไม่ได้ออกตามใจใคร แต่ออกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 219, 234, 235, 236 และ 237 (1) และที่สำคัญกว่านั้น พ.ร.บ.จริยธรรมฯนี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการ 1 ชุด คือ คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม (ก.ม.จ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน...โปรดรับทราบด้วยว่าท่านเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ และคนที่เป็นประธาน กลับไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งถือเป็นความผิดร้ายแรง ประเทศนี้จะอยู่กันได้อย่างไร" หัวหน้าพรรคประชาชาติกล่าว

นอกจากนี้ ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 60 มาตรา 160 วรรค 5 ยังระบุว่า นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นความผิดอย่างร้ายแรงด้วย ซึ่งศาลฎีกาได้พิจารณาออกระเบียบว่าด้วยการพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ.2561 และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ต.ค.61 ซึ่งหากจะให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัตินี้ กรณีของนายกรัฐมนตรีที่นำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบนี้ จะต้องนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ในระเบียบว่าด้วยการพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ.2561 กำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง เรียกว่า "ผู้ไต่สวนอิสระ" ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาจากศาลฎีกาก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความเป็นกลางทางการเมือง และทำการไต่สวนคดีโดยเปิดเผย โดยผู้ที่จะสามารถเข้าชื่อเสนอคำร้องได้นั้นจะต้องเป็น ส.ส. อย่างน้อย 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ 750 คน หรือเป็นประชาชนที่เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 20,000 รายชื่อ สามารถส่งคำร้องไปที่ประธานรัฐสภา จากนั้นประธานรัฐสภาจะรวบรวมคำร้องและเอกสารต่างๆ ส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบรายละเอียด และหาก ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่ามีมูล ก็จะส่งเรื่องให้ศาลฎีกาพิจารณาวินิจฉัยต่อไป

อย่างไรก็ดี หากคณะผู้ไต่สวนอิสระของศาลฎีกา มีมติรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา จะทำให้ผู้ถูกร้องซึ่งหมายถึงนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าการไต่สวนจะมีคำวินิจฉัยออกมา ซึ่งการพิจารณาวินิจฉัยจะต้องทำด้วยความรวดเร็ว และหากวินิจฉัยแล้วไม่พบว่ามีความผิด นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีก็สามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ตามเดิม

"ผมวิตกว่า ระเบียบที่ท่านนายกฯ ให้ร่างออกมานั้น อยากให้ไปโดนคนอื่น เช่น นักการเมือง ท่านอยากให้ออกมาทิ่มแทงพวกผม แต่ไม่รู้ว่าเป็นกรรมหรืออะไร ดาบที่ยื่นมา จะกลับไปสนองตัวท่านนายกฯ ในเร็ววันนี้" นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

พร้อมกันนี้ ได้เสนอแนะว่านายกรัฐมนตรีควรจะลาออกจากตำแหน่ง เพราะการลาออกในครั้งนี้ ไม่ได้แปลว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกไม่ได้ เพราะถึงแม้ฝ่ายรัฐบาลจะมีคะแนนเสียงปริ่มน้ำ แต่อย่างไรแล้วก็เชื่อว่าคะแนนเสียงเหล่านี้จะช่วยให้ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่อีกครั้ง

"อยากให้ท่านลาออก แล้วค่อยกลับมาใหม่ โละสิ่งที่พะรุงพะรังที่เสี่ยง และไม่ถูกต้องให้หมด แล้วเสนอโปรดเกล้าฯ ครม.ใหม่ นำครม.ใหม่เข้าถวายสัตย์ฯ ใหม่ให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญกำหนด ผมไม่ติดใจ ถ้าจะทำใหม่ให้เกิดความสมบูรณ์" นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าสิ่งที่ได้เสนอแนะไปนี้ นายกรัฐมนตรีคงจะไม่ทำ ดังนั้นจึงจะพิจารณาใช้ช่องทางของ ส.ส.จำนวน 1 ใน 5 ของสมาชิกรัฐสภา ยื่นคำร้องผ่านประธานรัฐสภาไปยัง ป.ป.ช. และส่งเรื่องให้คณะกรรมการไต่สวนอิสระ ของศาลฎีกา เพื่อพิจารณาวินิจฉัยกรณีนายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญต่อไป

"ผมไม่อยากให้เกิดสิ่งนี้ เพราะถ้าคณะกรรมการฯ รับไต่สวน นายกฯ และครม.ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และอาจต้องลาออก ทำอย่างที่ผมแนะนำดีกว่า อย่าให้พวกผมเสนอเรื่องไปที่ศาลฎีกาเลย" หัวหน้าพรรคประชาชาติระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ