(เพิ่มเติม) ศาล รธน.วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ"ประยุทธ์"ไม่สิ้นสุดลงเพราะไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

ข่าวการเมือง Wednesday September 18, 2019 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เพราะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งขาติ (คสช.) ไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ได้มาโดยการยึดอำนาจ และไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรมนูญมาตรา 170 วรรค หนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา98 (15) หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ตำแหน่ง คสช.ได้มาจากการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 และต่อมา คสช.ออกประกาศเรื่องควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ แต่งตั้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช. และมีอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงต่อมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช. และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 โดยมาตรา 42 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ คสช. เป็นรัฐบาลบริหารราชการต่อไป

จากนั้นเมื่อวันที่ 6 เม.ย.60 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญสามารถทำหน้าที่จนกว่า ครม.ที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเข้ารับหน้าที่ โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ คสช. ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่หลังเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่

ในประเด็นความเป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวเนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 5/2543 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 โดยมาตรา 109 (11) ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 98 (15) สรุปได้ว่า การพิจารณาความหมายของคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามมาตรา 109 (11) ของบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. จึงต้องตีความอย่างแคบ เพราะมีผลต่อสิทธิและหน้าที่ของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ และได้กำหนดลักษณะเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐไว้ว่า 1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ 3.อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐ และ 4.มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย

ส่วนคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ไม่ได้บัญญัตินิยามตามมาตรา 98 (15) ไว้ การตีความคำว่า เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จึงต้องตีความให้สอดคล้องกับบริบทและเจตนารมณ์ของกฎหมายที่บัญญัติถึงคำว่า เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ที่จะไม่ให้ข้าราชการที่มีเงินเดือนประจำเข้ามาเป็นนักการเมือง นอกจากข้าราชการการเมือง แต่คำว่าข้าราชการยังไม่ครอบคลุมทั้งหมดจึงได้บัญญัติมาตรา 98( 15) ไว้อีกว่า เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ การบัญญัติเพื่อให้ครอบคลุมถึงบุคคลที่มีคุณสมบัติ และสถานะเช่นเดียวกัน

ประกอบกับลักษณะต้องห้ามเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิบุคคลจึงจำเป็นต้องตีความอย่างแคบ การตีความถ้อยคำที่มีความหมายทั่วไปต่อท้ายคำเฉพาะทั้งข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจจึงต้องตีความทั่วไปให้มีความหมายสอดคล้องกับคำเฉพาะและแคบกว่าความหมายธรรมดาทั่วไป โดยต้องมีความเฉพาะประเภทเดียวกันซึ่งเป็นไปตามหลักสากลโดยทั่วไป

ทั้งนี้ ตำแหน่งหัวหน้า คสช. มาจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ต่อมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช.เป็นการนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ การแต่งตั้งหัวหน้า คสช. ผลสืบเนื่องจากการยึดอำนาจ และเป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่เป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐใด และเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมายใด ไม่มีกฎหมายใดกำหนดการเข้าสู่ตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่เฉพาะชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหนึ่งมีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของประเทศของประชาชน

ดังนั้น ตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่มีสถานะตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามมาตรา 98 (15)

ส่วนกรณีที่นางอุบลกาญจน์ อมรสิน ประธานองค์กรตรวจสอบการธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม ยื่นคัดค้าน 7 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ให้วินิจฉัยคดีนี้ ศาลมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง เนื่องจากไม่ได้เป็นคู่กรณีโดยตรง

สำหรับการอ่านคำวินิจฉัยครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เดินทางมาฟัง แต่มอบหมายให้พล.ต.วิระ โรจนวาศ คณะทำงานนายกรัฐมนตรีเดินทางมารับฟังแทน ขณะที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรมอบหมายให้นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสำนักงาน เป็นตัวแทนมารับฟังเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ