นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ กล่าวในการอภิปรายญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญว่า จากข้อเท็จจริงต่างๆ ยืนยันชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ จงใจละเมิด ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจริงอยู่ว่าพล.อ.ประยุทธ์ เคยเป็นนายกรัฐมนตรีจากการยึดอำนาจ แต่วันนี้รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้เต็มรูปแล้ว เมื่อมาตามระบบของรัฐธรรมนูญนี้ แต่เพียงวันแรกก่อนรับหน้าที่กลับแสดงออกมาด้วยการถวายสัตย์ฯไม่ครบ ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนหมดสิ้น
และ ด้วยเหตุนี้ จึงขอเรียกร้องให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยุติการให้ความเห็น การให้ความช่วยเหลือแก่นายกรัฐมนตรี และกลับมาเป็นปูชนียบุคคลทางนิติศาสตร์ ออกจากเรือแป๊ะมาอยู่ในเรือแห่งความยุติธรรม
"ขอเรียกร้องต่อไป ผมไม่ต้องการ พล.ประยุทธ์ คนเก่าหรือ พล.ประยุทธ์ คนใหม่ และเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ต่อการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน เพื่อรักษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้ราชอาณาจักรไทยแห่งนี้มีผู้นำประเทศที่สง่างาม ทัดเทียมกับนานายอารยประเทศ เป็นเกียรติต่อประเทศ ต่อประมุขแห่งรัฐ ต่อประชาชนทั้งประเทศ ผมขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี"นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวว่า หากครั้งแรกที่หยิบยกเรื่องนี้มาพูด พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับ ก็จะคงจะมีการหาทางแก้ไข เช่น หยุดการแถลงนโยบายในรัฐสภาไว้ก่อน แล้วทำเรื่องขอพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าถวายสัตย์ใหม่ให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น และปัญหาต่างๆ ก็คงจะไม่ยุ่งอิรุงตุงนังอย่างตอนนี้ เพราะการที่นิ่งเฉย ไม่ชี้แจง ทำให้มีปัญหา โดยเฉพาะในข้อกฎหมายตามมาเต็มไปหมด เช่น การประชุมคณะรัฐมนตรีก็ทำไปแล้ว การอนุมัติงบประมาณต่างๆก็ทำไปแล้ว การแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งต่างๆ ก็มากมาย
ประเด็นแรกที่อยากชี้ให้เห็นคือ ความสำคัญของการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายต้องปฏิบัติ มีความสำคัญ 3 ประการได้แก่ 1. เงื่อนไขบังคับก่อนเข้ารับหน้าที่ หากไม่มีการปฏิญาณก็ไม่มีการเข้ารับหน้าที่ เป็นเส้นแบ่งระหว่าง ครม.ชุดเก่ากับชุดใหม่ 2.การยืนยันหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ โดยถ้อยคำที่ระบุไว้ต้องปฏิญาณนั้นเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อยืนยันว่าบุคคลในองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหมดต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ต้องเคารพ ต้องรักษา ต้องปฏิบัติตาม
และ 3.คำสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์และประชาชน โดยเริ่มบัญญัติบังคับไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2492 ด้วยถ้อยคำที่ใช้ล้อตามกันมาหมด ซึ่งก็ได้มีนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญอธิบายไว้หลายท่านว่าที่ต้องเป็นคำนี้เพราะอะไร คือต้องเขียนให้ชัด จะเปลี่ยนไปตามอารมณ์ของแต่ละคณะแต่ละชุดไม่ได้
สำหรับผลของการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน โดยจากการค้นข้อมูลเก่าตั้งแต่หลังรัฐประหาร พ.ศ.2557 ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือเรียกว่าประยุทธ์ 1 นั้น ได้นำรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ 5 ครั้ง โดยกล่าวถ้อยคำครบถ้วนตรมที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สังเกตุว่าในการถวายสัตย์ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ อ่านจากบัตรแข็ง จนถ้อยคำที่มีการนำกล่าวตัดคำว่า 'ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ' และเพิ่มคำว่า 'ตลอดไป' เข้ามา ซึ่งเรื่องนี้หนังสือหลังม่านการเมืองของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ระบุไว้จะตัดหรือเพิ่มถ้อยคำใดตามใจไม่ได้
นายปิยบุตร กล่าวว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน คือ อาการของโรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ ซึ่งแบบพิธีนี้มีความสำคัญยิ่ง เพราะรัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดในการปกครอง และกำหนดความสำคัญของสถาบันการเมืองต่างๆ ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าองค์กรต่างๆ เริ่มต้นมีอำนาจเมื่อไหร่ วันใด เวลาใด และเมื่อมีอำนาจแล้วจะใช้ได้มากน้อยเพียงใด การที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวไม่ครบ ทำให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเคลือบแคลงใจได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้อำนาจอย่างไร จะไม่รักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทย ใช่หรือไม่
"การที่นายกรัฐมนตรี กล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบ เป็นธรรมดาที่จำทำให้ประชาชนสงสัยว่า ท่านจะเข้ารับหน้าที่โดยไม่รักษาไว้ และไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นี่เป็นพฤติกรรมของคนที่ไม่เห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นเป็นกฎหมายสูงสุด ไม่ยึดมั่น มองแต่ว่าเป็นเพียงเครื่องมือในการปกครองของท่านเท่านั้น และเวลาท่านอ้างรัฐธรรมนูญ ก็จะอ้างแต่ตอนที่ตนเองได้ประโยชน์ แต่ถ้าตนเองไม่ได้ประโยชน์ ถูกจำกัดอำนาจ ถูกตีกรอบ ท่านก็ไม่อ้าง
ซึ่งจริงอยู่ว่าวันนี้ท่านมาถูกต้องตามการออกแบบรัฐธรรมนูญ 60 แต่ก่อนหน้านี้ ท่านเข้าสู่อำนาจ โดยการยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นพฤติกรรมที่เคยใช้ขอให้ยุติ ท่านต้องให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ อย่าทำให้เป็นแค่เครื่องมือที่ท่านใช้ปกครองเท่านั้น ท่านจะทำตนเหนือรัฐธรรมนูญ เป็นองค์อธิปัตย์ ยกเว้นบางเรื่องเพื่อตัวเองแบบที่เคยใช้อำนาจพิเศษ ม.44 เป็น 'บิดาแห่งข้อยกเว้น' นั้นไม่ได้" นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวว่า ปฏิกิริยาของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังจากมีการเปิดเผยกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ คืออาการของโรค "ไม่รับผิดชอบ ขาดความเป็นผู้นำ" ซึ่งความรับผิดชอบของนักการเมืองนั้น มีทั้ง ความรับผิดชอบทางกฎหมายกับความรับผิดชอบทางการเมือง โดยทางกฎหมายถ้าเป็นทางแพ่งก็เรียกค่าเสียหาย ทางอาญาก็เข้าคุกรับโทษ ขณะที่ความรับผิดชอบทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญกว่า ท่านอาจถูกอภิปราย ลงมติไม่ไว้วางใจ ถอดถอน และมีความรับผิดทางการเมืองอย่างหนึ่งคือ ขอโทษต่อประชาชน และลาออกจากตำแหน่ง
อย่างไรก็ตามหลังเหตุการณ์นี้ สิ่งที่ท่านนายก และ ครม.แสดงออก คือประโยคอย่าง 'แล้ววันหนึ่งจะรู้เอง' ซึ่งไม่รู้ว่าท่านหมายถึงอะไร หรือการจัดพิธีให้คณะรัฐมนตรีเข้ารับพระราชทานพระราชดำรัส ต่อพระบรมฉายาลักษณ์นั้นหมายถึงอะไร ท่านคิดอะไร แต่สังคมย่อมมีสิทธิ์ตั้งคำถาม ว่าท่านเองทำผิด แต่ไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ เลย แต่เลือกจะใช้วิธีการแบบนี้ ย่อมแสดงถึงการขาดความเป็นผู้นำ คือ ทำผิดเอง แต่ไม่รับผิดชอบ เลือกแสดงออกโดยทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย
"จากการอภิปรายทั้งหมด ผมมีข้อซักถามถึง พล.อ.ประยุทธ์ ข้อแรกกระดาษที่อยู่ในกระเป๋าเสื้อท่าน เตรียมมาเองใช่หรือไม่ เขียนข้อความการถวายสัตย์ใหม่ที่ไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญลงไปใช่หรือไม่ เหตุใดไม่อาจากแฟ้มที่สำนักงานเลขาครม.เตรียมให้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้น 5 ครั้งก็อ่าน ข้อสอง หากมี รมต.คนหนึ่งลาออก มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรีคนใหม่รับตำแหน่ง ท่านจะนำถวายสัตย์อย่างไร อ่านถ้อยคำตาม มาตรา 161 หรือไม่ หรือจะอ่านแบบเมื่อวันที่ 16 ก.ค." นายปิยบุตร กล่าว