รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่สภาธุรกิจสหรัฐฯและอาเซียน (US-ASEAN Business Council : USABC) และ หอการค้าสหรัฐฯ (US Chamber of Commerce : USCC) จัดขึ้น เมื่อวันที่ 25 ก.ย. เวลา 18.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงแรม เจดับบลิว แมริออท พร้อมกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "Fostering Partnership for Common Prosperity" โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่ไทยและสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (USABC) มีโอกาสหารือกันบ่อยครั้ง สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญในบทบาทของธุรกิจสหรัฐฯ ในไทย และมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าในการเสริมสร้างปัจจัยสนับสนุน และบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนประกอบธุรกิจ โดยได้ย้ำถึงจุดแข็งของไทย ทั้งโดยสภาพภูมิศาสตร์และทรัพยากร รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน ไทยตั้งอยู่ใจกลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน เป็นประตูเชื่อมโยงไปสู่ตลาดขนาดใหญ่ในภูมิภาคและอนุภูมิภาคอื่นๆ
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามเพิ่มความสามารถและความได้เปรียบในการแข่งขันผ่านการวางรากฐานให้เศรษฐกิจไทย ทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 เพื่อยกระดับการผลิตของไทยให้มีมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การผลักดันโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การดำเนินนโยบาย Thailand+1 และการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบภายใน ส่งผลให้ปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตรา 4.1% ส่วนในปีนี้คาดว่าการเติบโตอาจลดลงมาอยู่ในช่วง 2.7-3.2% จากความตึงเครียดทางการค้าและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกลไกปรึกษาหารือระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐผ่านกลไกประชารัฐ รวมทั้งกำหนดนโยบายเร่งด่วน 12 ประการ โดยในด้านเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย และการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG ในด้านการลงทุน รัฐบาลยังคงส่งเสริมการลงทุนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต และช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้กำหนดให้ปีนี้เป็น "ปีแห่งการลงทุนในไทย (Thailand Investment Year)" โดยได้ออกมาตรการจูงใจพิเศษเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ในปีนี้ซึ่งไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ภายใต้แนวคิดหลัก "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน (Advancing Partnership for Sustainability)" ที่มุ่งเน้นการพัฒนาความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์เสถียรภาพ และการเจริญเติบโตร่วมกันของประเทศทั้งในและนอกภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมความอย่างยั่งยืนในทุกมิติโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยในช่วงเวลาวาระประธานอาเซียนที่เหลือของไทย ไทยจะพยายามผลักดันการเจรจา RCEP ให้เกิดความคืบหน้าอย่างเต็มที่เท่าที่จะเป็นได้ รวมถึงการพัฒนาความเชื่อมโยง ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบ ตลอดจนการพัฒนาขีดความสามารถให้กับกลุ่ม SMEs
ทั้งนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในความเป็นหุ้นส่วนภายใต้ กรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคฯ โดยเฉพาะกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี เจ้าพระยา แม่โขง (ACMECS) และการเปิดรับ ACMECS Development Partners ซึ่งสหรัฐฯ เป็นประเทศแรกที่ตอบรับเข้าร่วม รวมถึงภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกยังมีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกเนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ 44% มีประชากรที่เป็นทั้งแรงงานและผู้บริโภค 65% และมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) คิดเป็น 62% ของโลก
ภายใต้การบริหารจัดการสิ่งท้าทายและเสริมสร้างประโยชน์จากโอกาสทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้างขึ้น ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จ โดยนายกรัฐมนตรียืนยันความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลในการเสริมสร้างบรรยากาศและกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจและการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมาทำให้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และมีสาขาเศรษฐกิจที่เข้มแข็งในหลายๆ ด้าน ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ อย่างแนบแน่นและยาวนานถือเป็นจุดแข็งสำคัญประการหนึ่งของไทย ปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิกของบริษัทเอกชนสหรัฐฯ หลายบริษัท เป็นที่ตั้งสำนักงานการบริการลูกค้าและสนับสนุนการดำเนินการของกลุ่มบริษัทต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ขณะเดียวกันบริษัทไทยกว่า 20 บริษัทเข้าไปประกอบธุรกิจในสหรัฐฯ และมีแนวโน้มขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับภาคเอกชนสหรัฐฯ จาก 7 สาขา ได้แก่ (1) สาขาพลังงานและโคงสร้างพื้นฐาน (2) สาขาการผลิต (3) สาขาการท่องเที่ยว (4) สาขาอาหารและเกษตร (5) สาขาบริการทางการเงิน (6) สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ (7) สาขาสุขภาพและชีววิทยาศาสตร์ อาทิ Chevron, Ford, Marriott International, Pepsi, AIG, Oracle และ Johnson & Johnson เป็นต้น