นายกฯ เผย UN ทึ่งการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพของไทย แม้มีงบฯน้อย พร้อมหารือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ข่าวการเมือง Friday September 27, 2019 17:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์พิเศษจากนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่าน Facebook LIVE "ไทยคู่ฟ้า" ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 74 โดยระบุว่า ประเทศไทยได้รับความชื่นชมจากสมาชิกองค์การสหประชาชาติในเรื่องการจัดทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งแม้ไทยจะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และมีงบประมาณไม่มากนัก แต่สามารถทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพได้เกือบ 100%

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ชี้แจงให้ที่ประชุมฯ เห็นถึงการบริหารจัดการในเรื่องหลักประกันสุขภาพของไทย ที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งความร่วมมือจากโรงพยาบาลรัฐบาล โรงพยาบาลเอกชน ความพยายามในการพัฒนาโรงพยาบาลในระดับท้องถิ่นให้มีศักยภาพมากขึ้นทั้งบุคลากร และเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึง

"ประเด็นที่เขาทึ่ง คือ เราเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง งบประมาณไม่ได้มากนัก แต่เราสามารถทำให้คนเกือบ 100% เข้าสู่ระบบได้...เราชี้แจงว่าทำอะไรไปบ้าง แม้เงินน้อย แต่ต้องแบ่งประเภทการใช้เงินให้ดี 1.ต้องมีความร่วมมือระหว่าง รพ.รัฐ และ รพ.เอกชน ให้เข้ารพ.เอกชนได้ 72 ชม.แรก ก่อนส่งต่อไป รพ.รัฐ 2.เร่งรัดระบบการรักษาพยาบาลแบบปฐมภูมิ มี อสม. การดูแลผู้ป่วยติดเตียง การพัฒนารพ.ตำบล สนับสนุนให้ทั้งคนและเครื่องมือมีศักยภาพสูงขึ้น และสนับสนุน รพ.ประจำจังหวัดให้เป็น รพ.ศูนย์ เป็นต้น" นายกรัฐมนตรีระบุ

อย่างไรก็ดี ยังมีสิ่งที่รัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น เช่น การลดความแออัดของประชาชนที่จะเข้ามารับการรักษาใน รพ.ใหญ่ในตัวเมือง ซึ่งได้เริ่มให้มีการปรึกษาแพทย์แบบออนไลน์ ระบบนัดคิวพบแพทย์ผ่านแอพพลิเคชั่น การนำใบสั่งยาไปซื้อกับร้านภายนอกรพ.ได้ เป็นต้น

"มันไม่ใช่แค่รักษาฟรี แต่คุณภาพต้องดีด้วย รัฐบาลจะไปหาเงินจากไหน วันนี้ใช้เงินจากทั้ง สสส. สาธารณสุข ภาคเอกชน ต้องทำแบบบูรณาการ...ถ้าเราลดจำนวนคนป่วยลงได้มาก เงินจะเหลือมาดูแลในส่วนนี้ก็จะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นต้องดูแลสุขภาพตัวเอง การรับประทานอาหารที่ดี" นายกรัฐมนตรีระบุ

นอกจากนี้ ในที่ประชุมฯ ยังได้มีการหารือถึงประเด็นสภาพภูมิอากาศโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดภัยพิบัติเท่านั้น แต่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมตามมา ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ 20 ปี เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหานี้มาโดยตลอด ระบบระบายน้ำ ระบบกักเก็บน้ำที่มีปัญหาคงไม่สามารถโทษไปที่การออกแบบผังเมือง เพราะการออกแบบผังเมืองต้องได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนด้วย หากประชาชนไม่ยินยอม ก็เกิดผลสำเร็จไม่ได้ ดังนั้นจะต้องมีการร่วมสร้างแนวคิดใหม่ในการจัดทำผังเมืองเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

"โลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ฝนตกไม่ตามฤดูกาล ตกใต้เขื่อนมาก ระบบระบายน้ำมีปัญหา จะโทษผังเมืองก็ไม่เต็มที่ เพราะประชาชนต้องร่วมทำด้วย ต้องสร้างแนวคิดใหม่ในการทำผังเมืองว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร ในการเก็บน้ำ พร่องน้ำ ระบายน้ำ เราจำเป็นต้องมีแผนร่างไว้ก่อน อันไหนทำได้ก็ทำ อันไหนทำไม่ได้ ค่อยทำความเข้าใจกันไป เพราะส่วนใหญ่เป็นที่ประชาชน แต่ต้องแก้ไขด้วยการเรียนรู้ ทำความเข้าใจกันไป" นายกรัฐมนตรีกล่าว

ส่วนปัญหาอุทกภัยหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ล่าสุดได้รับรายงานว่าสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดเตรียมงบประมาณไว้สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในครั้งนี้แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ