นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯ และประชาชนจ.ระยองจะใช้สิทธิทางศาลในการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในเร็วๆ นี้ เพื่อระงับโครงการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตามโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ตามที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เสนอ ในกรอบวงเงิน 55,400 ล้านบาท โดยเป็นงานขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ถมทะเลหลังท่าเพื่อใช้งานประมาณ 550 ไร่ (เพื่อก่อสร้างท่าเรือ และพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมด้านพลังงาน) พื้นที่บ่อเก็บกักตะกอนดินเลน ประมาณ 450 ไร่ ท่าเรือก๊าซ (พื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 1,415 เมตร) ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว 2 ท่า (พื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร) คลังสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติ (พื้นที่ 150 ไร่) ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการลงทุนเมื่อวันที่ 1 ต.ค.62 ที่ผ่านมา
เนื่องจากการถมทะเลดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชายฝั่งทะเลและพื้นที่บนบก โดยเฉพาะกระทบกับทรัพยากรทางทะเลและวิถีทางการประมงพื้นบ้านและการท่องเที่ยวของชุมชนในบริเวณทะเลทะเลมาบตาพุด หาดแสงจันทร์ หาดพลา ให้เสียหายรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เพราะนับแต่รัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้เริ่มโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 1 ในปีพ.ศ. 2525 ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) เป็นต้นมาจวบจนปัจจุบันกว่า 30 ปีนั้น จะพบได้ว่าจังหวัดระยองซึ่งเคยเป็นอัญมณีแห่งภาคตะวันออก กลับกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมมลพิษที่มีโรงงานอุตสาหกรรมมากว่า 2,000 โรงในปัจจุบัน เกิดอุบัติภัยเกี่ยวภัยสารเคมีแพร่กระจายมากกว่า 40 ครั้ง อาทิ ท่อส่งก๊าซคาร์บอนิลคลอไรด์เกิดการแตกรั่ว เรือบรรทุกแอมโมเนียมไนเตรทล่ม รถบรรทุกสารเคมีซีโฟร์พลิกคว่ำ ไฟไหม้โรงงานพลาสติก เกิดการรั่วไหลของสารระเหยอินทรีย์ เพลิงไหม้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล น้ำมันเตารั่วไหลลงทะเล ไฟไหม้ถังเก็บสารเอทิลีน รถบรรทุกกรดไฮโดรคลอริกเกิดระเบิดและรั่วไหล เหตุระเบิดที่โรงงานบรรจุก๊าซ และท่อส่งคิวมีนรั่วไหล รถขนโซดาไฟพลิกค่ำในลำคลอง แอมโมเนียรั่วไหลออกจากท่อส่งที่ผุกร่อน และสารเคมีประเภทวัตถุระเบิด ขณะที่การลักลอบทิ้งกากของเสียที่ปรากฏเป็นข่าวมีมากมายนับไม่ถ้วน
"การที่รัฐมนตรีมุ่งเป้ามาขยายพื้นที่มาบตาพุดโดยขยายพื้นที่การถมทะเลเพิ่มมากขึ้นนับ 1,000 ไร่ ชี้ให้เห็นถึงความมืดบอดของคณะรัฐมนตรี ที่มองไม่เห็นทุกข์ภัยที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านและทรัพยากรทางทะเลที่เสียหายมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน กลับมองเห็นแต่ประโยชน์ของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมเป็นที่ตั้ง ทั้ง ๆ ที่เห็นกันชัดๆ ว่าชายทะเล ชายหาดถูกน้ำทะเลกันเซาะพังเสียหายอันเนื่องมาจากการถมทะเลที่ผ่านมาเป็นประจักษ์ชัดอยู่แล้ว แต่ทว่ารัฐบาล และหน่วยงานที่มีหน้าที่เห็นชอบ EHIA ต่างไม่เคยนำบทเรียนดังกล่าวมาคำนึงถึงแต่อย่างใด"นายศรีสุวรรณ กล่าว