7 พรรคฝ่ายค้าน ตั้งโต๊ะแถลงตอบโต้กรณีที่ผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า มอบหมายให้ผู้แทนแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีกับบุคคลรวม 12 คน ซึ่งเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการที่ร่วมกันจัดเสวนา "พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่" ที่จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 28 ก.ย.เนื่องจากกระทำผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 116
ที่ประชุมร่วมพรรคฝ่ายค้านในวันนี้ มีมติให้แจ้งความกลับผู้ที่ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้มอบอำนาจ รวมถึงถ้าขยายผลถึงผู้มีอำนาจสั่งการ โดยจะเข้าแจ้งคตวามในวันที่ 6 ต.ค.นี้ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะแจ้งความที่ จ.ปัตตานี หรือที่กองปราบปราม
นอกจากนั้น พรรคฝ่ายค้านยังมีมติยืนยันเจตนารมณ์ที่จะเดินหน้าทำกิจกรรมรับฟังเสียงสะท้อนของประชาชน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจปากท้องและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งยืนยันรัฐธรรมนูญปี 60 สามารถแก้ไขได้ ซึ่งฝ่ายค้านได้ระบุชัดเจนแล้วว่าจะไม่แตะหมวด 1 และ หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ
พรรคฝ่ายค้าน ยังจะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนักวิชาการและภาคประชาสังคมที่ขึ้นเวทีสัมมนาดังกล่าว โดยจะมีคณะทำงานฝ่ายกฎหมายดูแล รวมทั้งจะใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎรในการพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของประชาชน ซึ่งคณะกรรมาธิการกฎหมายกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนของสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่เป็นประธาน จะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีมติเตรียมร้องทุกข์กล่าวโทษนายทหาร กอ.รมน.และผู้บังคับบัญชา กรณีแจ้งความต่อ สภ.เมืองปัตตานี ให้ดำเนินคดีนักวิชาการและแกนนำฝ่ายค้านรวม 12 คน ในความผิดตามมาตรา 116
"วันอาทิตย์นี้ (6 ต.ค.) พรรคร่วมฝ่ายค้านจะไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายทหาร กอ.รมน.คนนี้ รวมถึงผู้บังคับบัญชาที่สั่งการ ส่วนจะไปแจ้งความที่ปัตตานีหรือกองปราบนั้นขอหารือกันก่อน" นายอนุสรณ์ กล่าว
นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังมีความเห็นที่จะเดินหน้าจัดเวทีสัญจรเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป พร้อมทั้งรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนด้วย
"ที่ประชุมฯ ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญปี 60 แก้ไขได้ เราจะไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 รัฐบาลจะใช้กฎหมายปิดปากไม่ได้ เวลานี้ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจุดติดแล้วโดยรัฐบาล" นายอนุสรณ์ กล่าว
ส่วนนักวิชาการที่มาร่วมเวทีเสวนากับฝ่ายค้านนั้น จะมีทีมกฎหมายช่วยเหลือดูแล เราจะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง นอกจากนี้จะใช้กลไกทางรัฐสภาคือ กมธ.กฎหมายฯ ที่มีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นประธาน เข้ามาช่วยเหลือดูแลประชาชน
ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า บทบัญญัติที่นำมาแจ้งความอยู่ในกฎหมายอาญา มาตรา 116 บรรดานักกฎหมายเรียกว่า ความผิดฐานยุยงและปลุกปั่น สำหรับใครที่เรียนมาทางกฎหมายด้านนี้ ความผิดตามกฎหมายประเภทนี้ นอกเหนือจากต้องมีเจตนาธรรมดาแล้ว ยังจำเป็นต้องมีที่ภาษากฎหมายเรียกว่า "มูลเหตุจูงใจ หรือเจตนาพิเศษ" ซึ่งมาตรานี้ได้กำหนดเจตนาพิเศษของการกระทำไว้ 3 ประการ คือ 1.เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแผ่นดิน ในกฎหมายบ้านเมืองของแผ่นดิน กระทำเพื่อโดยใช้กำลังข่มขืนใจ ใช้กำลังประทุษร้าย 2.เป็นการกระทำเพื่อสร้างความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง และ 3.ต้องกระทำเพื่อให้เกิดการละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
โดยในการไปอภิปรายเสวนาในที่สาธารณะของตัวแทน 7 พรรคการเมือง และนักวิชาการดังกล่าว ไม่เห็นมูลเหตุใน 3 ประการที่กล่าว โดยไม่เห็นว่ามีการกระทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน
"เราไม่เห็นการกระทำใด ที่จะทำให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน จึงไม่เข้าองค์ประกอบการของความผิดแต่ประการใด" นายชูศักดิ์ระบุ
ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะบ้านเมืองกำลังกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยตามปกติ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมีความสำคัญ ต่อไปหากจะใช้มาตรา 116 แจ้งความไปทั่ว คนก็จะไม่กล้าใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นอีกเลยเพราะกลัวถูกดำเนินคดี
ในฐานะที่ตนเป็นประธานกรรมาธิการกฏหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน จะเรียก พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงาน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า เข้ามาให้การว่ามีวัตถุประสงค์อย่างไร รวมทั้งจะเรียกบุคคลที่เสียหายในเรื่องนี้มาชี้แจงด้วย
นอกจากนี้ ยังมองว่า การร้องทุกข์กล่าวโทษในครั้งนี้สอดคล้องกับในช่วงที่รัฐบาลเข้าสู่ขาลง และประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญกำลังจุดติดแล้ว ซึ่งสังคมให้ความสนใจจำนวนมาก ดังนั้นการการดำเนินคดีผูกโยงความมั่นคงเพื่อต้องการเบี่ยงเบนประเด็นใช่หรือไม่
ด้านนายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนชาวไทย ยืนยันว่า ในการรณรงค์ครั้งนี้ 7 พรรคฝ่ายค้านได้พูดชัดเจนว่าจะไม่แตะ หมวด 1-2
"สิ่งที่ 7 พรรคฝ่ายค้านทำ เพื่อให้ประเทศเดินหน้า จึงต้องรณรงค์และไม่ต้องการแค่ 7 พรรค... การทำงานของพรรคร่วมจะไม่หยุดแค่นี้ เรามีแผนจะดำเนินการต่อไป" นายนิคมระบุ
พล.ต.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า ตนเองมีประสบการณ์ในการเป็นพยานช่วยผู้ถูกกล่าวหาในคดีที่เกี่ยวกับมาตรา 116 ซึ่งทุกคดีถูกยกฟ้อง
"อยากส่งสัญญาณไปถึงผู้บังคับบัญชาที่จะใช้บุคลากรด้านนี้ ควรให้มีความแตกฉานในเรื่องกฎหมายความมั่นคง คำนึงถึงครรลองตามระบอบประชาธิปไตย และใช้กฎหมายอย่างระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นจะย้อนกลับมาเป็นปัญหาในการทำงาน" พล.ต.ภราดร กล่าว