นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรค และหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีจุดยืนที่ชัดเจนมาตั้งแต่เริ่มต้น ในการไม่สนับสนุนสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จึงสอดคล้องกับแนวทางของทีมเรื่องการสนับสนุนให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง
"สิ่งที่เราทำตั้งแต่วันแรกตั้งแต่การประกาศตัวทีมเศรษฐกิจทันสมัย ซึ่งให้ความสำคัญมาก คือปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อสังคม ความพยายามและความตั้งใจในการดึงคนเข้ามาทำงานในทีมพรรคประชาธิปัตย์ ความจริงใจจากการกระทำของพรรคมีมาอย่างชัดเจนตั้งแต่วันแรก"
นายปริญญ์ กล่าวต่อว่า การทำเกษตรอินทรีย์มีมาตรฐานสูงกว่าการทำเกษตรแบบปลอดภัยเพราะไม่ใช้สารเคมีเลยในทุกกระบวนการของการผลิต ซึ่งหากเกษตรกรปรับเปลี่ยนสู่เกษตรอินทรีย์จะมีตลาดรองรับและเกษตรกรจะสามารถขายสินค้าได้สูงขึ้น 20% จากการรับซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์จากบริษัทใหญ่ในต่างประเทศ พร้อมเดินหน้าความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการสร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกร และเป็นตัวกลางในการสร้างมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีต้นทุนในการผลิตที่ถูกลง
"เราทราบดีตั้งแต่วันแรกที่เราจะผลักดันเรื่องเกษตรอินทรีย์ว่าวันนึงจะเป็นประเด็นใหญ่ ซึ่งเรามองอย่างรอบคอบในทุกขั้นตอนและรอบด้านถึงผลกระทบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของวัฏจักรนี้ทั้งหมด แต่สำคัญคือเรื่องสุขภาพของชาวนา สุขภาพของผู้บริโภคนี่คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงมีที่ปรึกษาที่เข้ามาช่วยทำงานเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไม่ใช่เรื่องง่าย หลายนาหลายแปลงยังไม่พร้อมที่จะไปถึงเกษตรอินทรีย์ แต่เรามีกระบวนการเตรียมความพร้อมแต่ละแปลงแต่ละนาเพื่อไปสู่เกษตรอินทรีย์ และดึงนายนาวี นาควัชระ ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์เข้ามาช่วย ซึ่งเรารู้ดีว่าถ้ามีการแบนสารเคมีจะมีผลกระทบต่อชาวนาหรือผู้ประกอบการ ถ้ามีการแบนสารเคมีขึ้นเราไม่ละเลยในประเด็นนี้" นายปริญญ์ กล่าว
นายปริญญ์ กล่าวด้วยว่าการทำเกษตรอินทรีย์ หากพี่น้องเกษตรกรได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีทั้งการผลิตที่มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค่า และการพัฒนาช่องทางการตลาด เมื่อเกษตรกรผลิตได้และขายได้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยยกระดับเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเองให้กับพี่น้องเกษตรกรเพื่อช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากได้อีกด้วย
ล่าสุด ทางผู้บริหารระดับสูงของบริษัท CO-OP (โค-อ๊อพ สหกรณ์รวม) จากยุโรป แสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับประเทศไทยในการรับซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับพี่น้องเกษตรกรและเป็นการขยายตลาดไปยังต่างประเทศอีกด้วย
"ทำอย่างไรให้เกษตรกรมีผลผลิตพรีเมี่ยมและมีรายได้สูงขึ้น ซึ่งท่านรัฐมนตรีเฉลิมชัยก็ได้เน้นย้ำว่าต้องการให้เกิดเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยโดยเร็ววัน เพราะฉะนั้นกระบวนการอะไรก็ตามที่บริษัท CO-OP ช่วยเหลือได้ จะทำให้เกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนได้" นายปริญญ์ กล่าว
ด้านนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษก ปชป. กล่าวว่า เป้าหมายของทีมเศรษฐกิจทันสมัยคือความยั่งยืนเพราะฉะนั้นการสนับสนุนเรื่องเกษตรอินทรีย์ก็เป็นหนึ่งในแนวทางหนึ่งในการสนับสนุนความยั่งยืน ซึ่งตลอดระยะเวลาในการทำงานได้มีการลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ
ล่าสุดได้ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เนื่องจากศรีสะเกษเป็น 1 ใน 3 พื้นที่ซึ่งพรรคตั้งเป้าหมายไว้ว่าเป็นจังหวัดที่จะต้องทำเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการ โดยตั้งใจใช้"ศรีสะเกษโมเดล" เชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรหรือยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์กับสถาบันการศึกษา เอาองค์ความรู้มาเชื่อมกันโดยมีทีมเศรษฐกิจทันสมัยเข้าไป Coaching ให้แนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกษตรกรเกษตรอินทรีย์ มีทิศทางการเติบโตที่ดีและสามารถขยายตลาดได้ในอนาคต และผลักดันให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโตได้จริงๆ