นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้เริ่มอภิปรายถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ว่า จากที่ได้มีการพิจารณาเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณนี้ในเบื้องต้นแล้ว เห็นว่าไม่มีความเหมาะสม และต้องการให้รัฐบาลนำกลับไปร่างใหม่ เนื่องจากเป็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่ไม่สามารถใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในภาวะวิกฤติขณะนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรงบประมาณไปในภาคส่วนที่ไม่ได้ส่งผลต่อการขยายตัวของประเทศ, ขาดความชัดเจนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการใช้งบประมาณเกินตัว
ผู้นำฝ่ายค้าน ระบุว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจะต้องประกอบด้วยฟันเฟืองสำคัญ 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1.การลงทุนภาคเอกชน 2.การบริโภคภายในประเทศ 3.การส่งออก และ 4.การลงทุน-ใช้จ่ายภาครัฐ (งบประมาณรายจ่ายประจำปี) ซึ่งงบประมาณรายจ่ายประจำปีนี้ ถือเป็นฟันเฟืองที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ หากมีการใช้จ่ายอย่างเหมาะสม จัดสรรด้วยความยุติธรรม ก็จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพื่อให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
"ฟันเฟืองอีก 3 ด้านหลัก ทั้งการลงทุนภาคเอกชน, การบริโภคภายในประเทศ และการส่งออก ได้ส่งสัญญาณว่ากำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ดังนั้นการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ซึ่งเป็นฟันเฟืองตัวที่ 4 จึงมีความสำคัญมากสุดในขณะนี้ เพราะฟันเฟืองทั้ง 3 ตัว ทำท่าว่าจะไม่ดีแล้ว หากรัฐบาลสามารถบริหารงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่รั่วไหล และสร้างประสิทธิผล ก็จะเกิดความมั่นใจในการขับเคลื่อนฟันเฟือง 3 ตัวที่เหลือได้" นายสมพงษ์กล่าว
พร้อมมองว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 มีปัญหาอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการนำไปจัดสรรในภาคส่วนที่ไม่ได้ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งจะเห็นได้ว่างบในส่วนนี้ของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงรัฐบาล คสช.ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดในปีงบประมาณนี้ ยังได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นอีก 6 พันล้านบาท ซึ่งไม่ได้เป็นการใช้งบประมาณไปเพื่อการกินดีอยู่ดีของประชาชนในประเทศแต่อย่างใด
นอกจากนี้ งบประมาณรายจ่ายปี 63 ยังขาดความชัดเจนในแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์หรือการรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ทั้งปัญหาสงครามการค้า, ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ, ประชาชนขาดกำลังซื้อ, เงินบาทแข็งค่า เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นการใช้งบประมาณอย่างมักง่าย แจกเงินอย่างสิ้นคิด ไม่ได้มีส่วนในการช่วยพัฒนาศักยภาพของประชาชน หรือไม่ได้จูงใจให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตของภาคธุรกิจเอกชน แต่เป็นเพียงการยืดปัญหารายวันออกไป เช่น การแจกเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น
นายสมพงษ์ ยังกล่าวด้วยว่า ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 จะเห็นได้ว่ามีการใช้จ่ายงบประมาณเกินตัว ส่งผลให้มีการตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 63 มีการตั้งงบขาดดุลไว้ถึง 4.6 แสนล้านบาท และเมื่อย้อนไปในช่วง 5 ปีของรัฐบาล คสช. ตั้งแต่ปี 58-62 จะเห็นได้ว่ามีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี แม้ว่ารัฐบาลจะมีการจัดเก็บภาษีเพิ่มมากขึ้น หากไม่สามารถหยุดแนวปฏิบัตินี้ได้ อีกไม่นานประเทศไทยจะเข้าสู่การล้มละลายทางการคลัง
"5 ปีที่ผ่านมาในช่วงรัฐบาล คสช. (58-62) การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี แม้จะปรับภาษีเพื่อเพิ่มการจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้น ก็ยังไม่เพียงพอ ล่าสุดในปี 61 สนช.ได้เห็นชอบให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณถึง 5.5 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าการขาดดุลงบประมาณ 2 ปีรวมกันในสมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ในปี 56 และ 57 เสียอีก" นายสมพงษ์ระบุ
ผู้นำฝ่ายค้าน ยืนยันว่า การที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 นี้และต้องการให้รัฐบาลนำกลับไปยกร่างใหม่นั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะตีรวนหรือทำให้การบังคับใช้งบประมาณที่ล่าช้าอยู่แล้วต้องล่าช้าออกไปอีก แต่เป็นเพราะเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้ยังไม่สามารถจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาไปได้ อีกทั้งยังมีข้อบกพร่องอีกมาก ซึ่งหากไม่มีการนำกลับไปแก้ไข ก็คงไม่สามารถให้ความเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้
"ขอวิงวอนไปถึงประชาชน และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลให้เข้าใจว่า อย่าหาว่าผมตีรวน แกล้งให้ พ.ร.บ.นี้ล่าช้าออกไปอีก แต่ที่ผมได้ศึกษางบประมาณนี้ มีข้อบกพร่องอยู่มาก...ผมหมดหวังกับการฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มันจะกลายเป็นวิบากกรรมการคลังของประเทศที่ยากจะแก้ไข เพราะฉะนั้นจึงอยากให้นำกลับไปพิจารณาแก้ไขใหม่ ไม่เช่นนั้นผมคงไม่สามารถจะให้ความเห็นชอบกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้" นายสมพงษ์กล่าวในที่สุด