มารดาและภรรยาของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งหลานชาย 2 คนของนางสมพร ขึ้นให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะพยานในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายธนาธรสิ้นสุดลงหรือไม่ กรณีถือครองหุ้นในธรุกิจสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด
นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธร ในฐานะพยานปากที่ 4 กล่าวว่า ได้เซ็นรับโอนหุ้นวี-ลัค มีเดีย ที่บ้านพักของนายธนาธรในวันที่ 8 ม.ค.62 เวลาประมาณ 18.00 น.โดยได้เตรียมเช็คไปจ่ายค่าหุ้น 2 ฉบับ แต่ไม่ทราบว่านายธนาธรนำเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงินกับธนาคารเมื่อใด ขณะที่มีการลงบันทึกในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นทันทีในวันดังกล่าว แต่ไม่ได้ดำเนินการจดแจ้งการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนในทันที เพราะกำหนดจะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนปิดงบการเงินประจำปี
ขณะที่การรับโอนหุ้นในกิจการอื่นๆ จากนายธนาธรนั้น ยังไม่ได้ชำระเงินให้ในวันดังกล่าว เพราะเป็นเงินจำนวนมาก
นางสมพร กล่าวอีกว่า หลังจากที่รับโอนหุ้นวี-ลัค มีเดียจากนายธนาธร ต่อมาก็ได้โอนหุ้นให้กับหลานชายสองคนที่ให้ความสนใจไปบริหารกิจการ แต่หลังจากนั้นแค่ 2 เดือนมีความคิดที่จะปิดกิจการอีก เพราะไม่ต้องการจ่ายเงินเพิ่มทุน จึงให้หลานชายทั้ง 2 คนโอนหุ้นคืนกลับมาตนเอง รวมทั้งหุ้นในบริษัทย่อยๆ อื่นเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้อื่น อย่างไรก็ตาม แม้มีแนวคิดที่จะปิดกิจการตั้งแต่ปี 61 แต่บริษัทมีสัญญาต้องผลิตสิ่งพิมพ์ค้างอยู่กับสายการบินนกแอร์ที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามสัญญา
ด้านนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยาของนายธนาธร ในฐานะพยานปากที่ 5 กล่าวว่า เอกสารการโอนหุ้นนั้นมีทีมทนายความของพรรคอนาคตใหม่เป็นผู้ดำเนินการ และมีการสั่งจ่ายเช็คเป็นค่าหุ้นให้นายธนาธรและตนเองรวม 2 ฉบับ โดยได้นำไปขึ้นเงินด้วยตัวเองในเดือน พ.ค.62 รวมกับเช็คอื่นๆ ราว 10 ฉบับ เนื่องจากติดภาระดูแลบุตรที่เพิ่งคลอดและได้นำเช็คทั้งสองฉบับไปเป็นหลักฐานชี้แจงต่อ กกต.แล้ว
นางรวิพรรณ กล่าวว่า ในช่วงก่อนที่จะมีการโอนหุ้นนายธนาธรได้เดินทางจากสนามบินดอนเมืองไปยังจังหวัดอุบลราชธานีตั้งแต่เช้าวันที่ 7 ม.ค.62 และเดินทางกลับจากจังหวัดบุรีรัมย์มายังบ้านพักด้วยรถยนต์ในวันที่ 8 ม.ค.62
ส่วนการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ให้กับสายการบินนกแอร์นั้น นายรวิพรรณ กล่าวว่า เป็นการรับจ้างผลิตตามต้นฉบับที่กำหนดมาให้เท่านั้น
จากนั้นน.ส.ลาวัลย์ จันทรเกษม พนักงานบริษัท วี-ลัค มีเดีย ซึ่งเป็นพยานปากที่ 6 ให้การว่า ปัจจุบันเป็นผู้จัดการทั่วไปสายบัญชีกลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท ออโต้พาร์ท อินดัสตรี้ โดยทำงานมานาน 15 ปี ยืนยันว่า ในวันที่ 8 ม.ค.62 ได้เดินทางไปถึงบ้านธนาธร พร้อมกับ น.ส.กานต์ฐิตา อ่วมขำ พนักงาน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในเวลาประมาณ 17.00 น. ซึ่งได้มีการโอนหุ้นตามขั้นตอน และมีการจ่ายเช็คค่าหุ้น
นอกจากนี้ยังมีการโอนหุ้นบริษัทอื่นๆ นับ 10 แห่ง แต่ยังไม่ได้ชำระเงิน เพราะเป็นเงินจำนวนมากต้องกำหนดแผนงานไม่ให้กระทบต่อสถานะการเงินของบริษัทฯ
ส่วนวันที่ 14 ม.ค.62 นางสมพร ได้มีการโอนหุ้นให้หลานชายทั้ง 2 คน และวันที่ 21 มี.ค.62 นางสมพร รับโอนหุ้นคืนจากหลานชาย ซึ่งทั้งสองครั้งไม่มีการชำระเงินค่าหุ้น
ขณะที่ น.ส.กานต์ฐิตา พยานปากที่ 7 ทำงานฝ่ายการเงินที่กลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท ออโต้พาร์ท อินดัสตรี้ มานาน 22 ปี ให้การเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นซึ่งตรงกับคำให้การของ น.ส.ลาวัลย์
ด้านนายปิติ จรุงสถิตย์พงศ์ หลานชายของนางสมพร ซึ่งเป็นพยานปากที่ 8 กล่าวว่า ได้โอนหุ้นกลับให้นางสมพรเมื่อวันที่ 21 มี.ค.62 หลังจากประชุมเมื่อวันที่ 19 มี.ค.62 แล้วนางสมพร ไม่เห็นด้วยที่ต้องจ่ายเงินลงทุนเพิ่มอีกหลายล้านบาท โดยการโอนหุ้นดังกล่าวไม่มีการชำระค่าหุ้น
และ นายทวี จรุงสถิตย์พงศ์ หลานชายของนางสมพร พยานปากที่ 9 กล่าวว่า ตนเองเรียนจบด้านนิเทศศาสตร์จึงอยากทำงานด้านนี้ โดยเสนอแผนปรับโครงสร้างบริษัทให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงจากสื่อสิ่งพิมพ์เป็นสื่ออีเลคทรอนิกส์ (e-book) แต่นางสมพรไม่เห็นด้วย เพราะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่ม จึงต้องการปิดกิจการ