นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรมว.คลัง ได้กล่าวอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 โดยแสดงความกังวลในส่วนของรายได้ ซึ่งกว่า 90% ของประมาณการรายได้รัฐบาลมาจากการเก็บภาษีจากประชาชน เนื่องจากตัวเลขการจัดเก็บภาษีที่รัฐบาลประมาณการว่าจะจัดเก็บได้ 15% ต่อจีดีพี คาดว่าจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ
หากนำมาเปรียบเทียบกับความต้องการในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 11 ล้านคน งบประมาณของปี 2563 ที่กำลังพิจารณานี้มีการตั้งงบโดยรวมเพื่อดูแลผู้สูงอายุไว้ประมาณ 460,000 ล้านบาท 70% ของจำนวนนี้เป็นการดูแลประชาชนที่เป็นข้าราชการ 2 ล้านคน ซึ่งเฉลี่ยจะได้รับเงินบำนาญคนละ 20,000 บาทต่อเดือน โดยไม่นับรวมค่ารักษาพยาบาล ส่วน 30% ดูแลผู้สูงอายุอื่นๆ 11 ล้านคน เป็นการให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเงินสมทบกองทุนการออมแห่งชาติ เฉลี่ยจะได้รับคนละ 1,000 บาท ต่อคนต่อเดือน
ดังนั้น ภายใน 15 ปี จะมีผู้สูงอายุ 20 ล้านคน หากจะต้องดูแลคน 20 ล้านคนด้วยราคาสินค้า ณ วันนี้ ก็จะต้องมีงบประมาณสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท แต่ถ้ามีความคิดว่าจะให้ทุกคนมีมาตรฐานคุณภาพชีวิตในระดับเดียวกันจะต้องใช้งบ 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับเม็ดเงินภาษีรายได้ 2.9 ล้านล้าน
นายกรณ์ กล่าวว่า หากต้องการดูแลคนสูงอายุทุกคน เท่ากับว่าต้องเพิ่มสัดส่วนภาษีจากรายได้ของประเทศโดยรวมจาก 15% เป็น 30% ซึ่งจะยังต่ำกว่าอัตราของหลายๆ ประเทศ ขณะที่ประเทศไทยทำเช่นนั้นทันทีไม่ได้ แต่สามารถคิดตั้งไว้เป็นเป้าหมายได้ ท้งนี้ ปัญหาของระบบภาษีของไทยคือ 98% ของรายได้โดยรวมมาจากรายได้ของประชาชน ส่วน 2% มาจากทรัพย์สิน และในยามเกษียณคนไทยมีความคาดหวังในการพึ่งรัฐบาลเป็นหลักถึง 60% ดังนั้นความจำเป็นของรัฐบาลที่จะตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องประชาชนในการเพิ่มรายได้ภาษีนั้นมีแน่นอน
"ปัญหาระบบภาษี 98% มาจากรายได้ของประชาชน 2% มาจากทรัพย์สิน ซึ่งคนไทย 60 % คาดหวังจะพึ่งรัฐบาลเป็นหลักในการดูแลยามเกษียณ ต่างกับคนเกาหลีที่ 60% จะดูแลตัวเอง รัฐบาลจึงควรเพิ่มรายได้ภาษีจากทรัพย์สินจากกลุ่มคนเพียง 1% ที่มีทรัพย์สินเทียบเท่าคน 66.9% ของประเทศ"นายกรณ์ กล่าว
นายกรณ์ กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีจึงควรที่จะมาจากการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินให้มากขึ้น นอกจากนี้จากประเมินพบว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สินมากที่สุดในโลก แต่รัฐแทบไม่เก็บภาษีจากคนกลุ่มนี้เลย ขณะที่รัฐบาลที่แล้วมีการผลักดันภาษีมรดก และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยภาษีนี้จะเริ่มมีการเก็บในวันที่ 1 ม.ค. 2563
"การเก็บภาษีมรดกมีช่องโหว่ หากเป็นมหาเศรษฐีจริงจะสามารถหลบเลี่ยงได้ ดังนั้นผมขอให้ทบทวนเรื่องประสิทธิภาพ แต่หากทำไม่ได้ ต้องยกเลิก" นายกรณ์ กล่าว
ขณะที่ในส่วนภาษีที่ดินที่รัฐบาลเตรียมจัดเก็บ ตนกังวลว่าจะไม่มีความพร้อมด้านการประเมินราคาที่ดินที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นธรรม
นอกจากนี้ยังมีประเด็นนโยบายปฏิรูปภาษี หากรัฐบาลดำเนินการตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ จะทำให้รายได้ของรัฐบาลจะสูญหายไปอีกเกือบ 180,000 ล้านบาท หากต้องการลดภาระภาษีให้กับคนชั้นกลางมีสิ่งที่ต้องพิจารณา คือ ภาษีนิติบุคคล ดูได้จากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (599 บริษัท) โดยรวมปีที่แล้ว เสียภาษีเพียง 17.6% ของกำไร หากเพียงสามารถเก็บภาษีนิติบุคคลส่วนนี้ได้ตามอัตราฐาน ก็จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีภาษีอีกหลายชนิด เช่น ภาษีกำไร (Capital Gain Tax) เศรษฐีที่ดินควรเสียภาษีกำไรส่วนเทียบราคาขายกับราคาทุนที่แท้จริง ณ ปัจจุบันยังเสียภาษีบนราคาที่ดินที่เป็นราคาประเมิน ภาษีตลาดทุน (Transaction Tax) อาจมีการปรับเพิ่มขึ้นได้ ขณะที่ภาษีบริษัท Big Tech ข้ามชาติ ก็มีการพูดกันมาก แต่ยังไม่เห็นประมาณการในการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2563
"สิ่งที่อยากเห็นคือแนวคิดที่จะปฏิรูประบบภาษี เพื่อเตรียมการรอบรับความต้องการของพี่น้องประชาชนซึ่งมีแต่จะมากขึ้นเรื่อยๆ นอกเสียจากรัฐบาลจะบอกว่าระดับการดูแลประชาชนในวันนี้เพียงพอแล้ว ดีแล้ว เชื่อว่าไม่มีรัฐมนตรีคนใดคิดอย่างนั้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเอาจริงกับการปฏิรูประบบภาษีเพื่อให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น มีความเป็นธรรมมากขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในอนาคตได้" นายกรณ์ กล่าว