นายกฯ ย้ำอาเซียนร่วมมือเป็นหนึ่งเดียว ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เป็นรูปธรรม

ข่าวการเมือง Monday November 4, 2019 14:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อหารือเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (Special Lunch on Sustainable Development) ซึ่งจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอก รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ สหประชาชาติ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียน และกรรมการผู้จัดการ IMF เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระสำคัญของโลก และเป็นประเด็นสำคัญทางยุทธศาสตร์ของอาเซียนในการขับเคลื่อนการสร้างประชาคมอาเซียนให้มีความเข้มแข็งและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งท้าทายต่างๆ

นอกจากนี้ อาเซียนได้ร่วมมือกับภาคีภายนอกต่างๆ โดยไทยเป็นผู้ประสานงานอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งเสริมข้อริเริ่มความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ.2025 กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ของสหประชาชาติ (Complementarities Initiative)

โอกาสนี้ ไทยถือว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของ"ความยั่งยืนในทุกมิติ" ซึ่งเปรียบเสมือนเหรียญที่มีสองด้าน ด้านหนึ่งคือ การมีเสถียรภาพและความมั่นคง และอีกด้านคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีพลวัต และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทั้งสองด้านจะต้องส่งเสริมและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนของประชาคมอาเซียน

อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังคงเผชิญกับความท้าทายในอีกหลายเป้าหมาย โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาเซียนได้ประกาศเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม เช่น การลดการใช้พลังงานลงร้อยละ 30 และการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 23 ภายในปี ค.ศ.2025 และการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งอาเซียนได้มีข้อริเริ่มมากมายที่จะลดช่องว่างการพัฒนา ทั้งในประเทศและในภูมิภาคเพื่อไม่ให้ประชาคมอาเซียนทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ในการหารือดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้เสนอ 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ประการที่หนึ่ง อาเซียนควรเสริมสร้างแรงกระตุ้นในการดำเนินการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาค และต่อยอดจากการดำเนินกิจกรรมของศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการดำเนินการตามโรดแมปความเกื้อกูลฯ

ประการที่สอง การสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในระดับรากหญ้า

และประการที่สาม การบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนในอาเซียนจะต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจจากทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนและภาคีภายนอก

นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า ความร่วมมือและความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน และความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกับประเทศคู่เจรจาและภาคีภายนอกของอาเซียน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนประจักษ์ผลเป็นรูปธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ