นายกฯ ยันไม่ก้าวล่วงตั้ง กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ระบุเป็นไปตามโควต้าทุกฝ่ายร่วมมือกัน

ข่าวการเมือง Wednesday November 6, 2019 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการเสนอชื่อนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ส่วนตัวไม่ขัดข้องว่าจะเป็นใครเข้าร่วม

สำหรับสัดส่วนรายชื่อ กมธ.ในส่วนของรัฐบาลนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งจะต้องมีการจัดสรรไปตามโควต้า และสัดส่วนที่มีทั้ง ครม.ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน และพูดคุยกันในชั้นกรรมาธิการ

"เรื่องนี้เป็นเรื่องของกรรมาธิการฯพิจารณา จะเข้าไปก้าวก่ายไม่ได้ เป็นเรื่องของรัฐสภา แต่เห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาและไม่สามารถแก้ไขได้เสร็จภายในวันเดียว และยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามขั้นตอน และยังไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องแก้ไขมาตรา 256 แต่อย่างใด"

ส่วนกรณีที่ในวันนี้ไม่ได้เดินทางไปชี้แจงคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามทุจริตสภาผู้แทนราษฎร ที่มีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส เป็นประธาน เนื่องจากติดภารกิจประชุม ครม.ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือว่าจะปฎิบัติอย่างไรต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการก่อเหตุความรุนแรงที่จังหวัดยะลาเมื่อคืนนี้ว่า มาตรการเข้มข้นในการรักษาดูแลความสงบในพื้นที่มีอยู่แล้ว แต่อาจมีจุดอ่อนในการอยู่ร่วมกันและตั้งฐานปฏิบัติการ ดังนั้น ทุกคนต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการพูดคุยหารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเชียหลายเรื่อง และยินดีที่ให้มีการพูดคุยกันอีกในฐานะผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยเพื่อสันติสุข

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้ก่อเหตุเปลี่ยนเป้าหมายจากการลอบทำร้ายตำรวจทหาร มาเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.)นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จุดใดที่เป็นจุดอ่อนที่มีความเสี่ยงสูง จุดนั้นไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น ซึ่งอยู่ที่การจะเพิ่มมาตราการป้องกันดูแลตัวเองได้อย่างไร ซึ่งวันนี้พล.อ.อภิรักษ์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (รองผอ.กอ.รมน.) ได้ประชุมเพื่อปรับมาตราการในการวางกำลังใหม่ เพราะบางจุดเจ้าหน้าที่มีความเสี่ยงมากในการดูแลความปลอดภัยประชาชน ซึ่งพื้นที่ใดที่เป็นจุดอ่อน กลุ่มผู้ก่อเหตุก็จะใช้พื้นที่นั้นกดดัน เพื่อให้มีผลต่อการเจรจา และตนเองไม่อยากให้สื่อนำไปขยายผล เพราะจะกลายเป็นผลเสียต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ