นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า จะเสนอนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้เปิดประชุมสภาฯ นัดพิเศษในวันที่ 22 พ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาญัตติด่วน เรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 และการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44
ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หากการประชุมสภาฯ วันนี้และพรุ่งนี้สามารถพิจารณาเรื่องรับทราบได้ทั้งหมด คาดว่าสัปดาห์หน้า ญัตติด่วนทั้ง 2 เรื่องก็จะเข้าสู่การพิจารณาได้
"สภาฯ ต้องให้ความสำคัญกับทุกญัตติ ไม่ใช่เฉพาะญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งญัตติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐรรมนูญก็ต้องพิจารณาต่อจากญัตติของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เพราะฉะนั้นจึงพยายามจะเชิญคนเสนอญัตติมาหารือ ว่าการพิจารณาแต่ละญัตติจะต้องใช้เวลาเท่าไร ถ้าเราทำความเข้าใจ และสมาชิกบริหารเวลาได้ จะทำให้การพิจารณาไปได้เร็วขึ้น" นายชวนระบุ
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านเสนอให้การประชุมนัดพิเศษต้องพิจารณา 2 ญัตติด่วนดังกล่าวว่า โดยปกติไม่สามารถพิจารณาญัตติใดเป็นเฉพาะเจาะจงได้ เนื่องจากต้องเป็นไปตามเรื่องที่บรรจุในระเบียบวาระ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ญัตติดังกล่าวได้วางลำดับที่ 1 และ 2 ในวาระประชุมอยู่แล้ว แต่หากมีประเด็นหรือญัตติอื่นเลื่อนมาพิจารณาแทนหรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุม
ส่วนการพิจารณาญัตติด่วนเรื่องศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น วิปรัฐบาลได้หารือและได้ข้อสรุปว่าให้พิจารณาและตั้งกมธ. จำนวน 49 คน มีสัดส่วนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 12 คน, ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 18 คน และ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน 19 คน และให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จ 180 วัน
ส่วนการเสนอชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่งใน กมธ.ของพรรคการเมืองต่างๆ นั้น จะนำหารืออีกครั้งในการประชุมวิปรัฐบาลสัปดาห์หน้า ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า ส.ว.อาจได้โควต้ากมธ.วิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ครม.นั้นตนไม่ทราบ เพราะเป็นประเด็นที่ ครม.ต้องพิจารณา