ฝ่ายค้านเตรียมล็อคเป้าอภิปรายไม่ไว้วางใจรายบุคคลจี้ความล้มเหลวแก้ปัญหาศก.-ทุจริตเอื้อกลุ่มทุนใหญ่

ข่าวการเมือง Friday November 22, 2019 11:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคฝ่ายค้านจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นรายบุคคล แต่ยังเปิดเผยจำนวนรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายไม่ได้ในขณะนี้ เพราะต้องทำงานอย่างรัดกุมในการตรวจสอบรัฐบาล แต่จะแบ่งเป็น 3 ความเสียหาย คือ 1. ความเสียหายจากความล้มเหลว ความผิดพลาด ความบกพร่องในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 2.การทุจริตในเชิงนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ 3. การทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในหน่วยงานที่รัฐบาลกำกับดูแล

สำหรับการอภิปรายฯ เรื่องความเสียหายจากความล้มเหลว ความผิดพลาด ความบกพร่องในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้น คงจะมุ่งเน้นไปที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คือนายกรัฐมนตรี กระทรวงเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง และตัวผู้รับผิดชอบ คือหัวหน้าทีมหรือรองหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

"แต่ก็ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ตัวบุคคล งานอยู่กับใคร งานผิดพลาดตรงไหนก็ต้องคนนั้น"คุณหญิงสุดารัตน์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์ในช่วงเช้าวันนี้

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวอีกว่า ปัญหาเศรษฐกิจโดยรวมหมายถึงทีมเศรษฐกิจทั้งหมด เพียงแต่มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นกลไกหลักและวิธีการในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทั้ง ๆที่ฝ่ายค้านเคยพยายามติติงในหลายเรื่อง แต่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจไม่ฟัง และพยายามดึงดันทำในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ

ปัญหาคือขณะนี้เศรษฐกิจพื้นฐานรากหญ้าตายหมด ส่งผลให้ธุรกืจขนาดกลางขนาดย่อมขณะนี้เริ่มตายตาม ร้านค้าเริ่มปิดตัว อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ลดลงมาเหลือ 2.4% แม้จะยังบวกอยู่แต่ถ้าเอ็กซเรย์ลงไปจะเห็นว่า GDP ของภาคเกษตรติดลบ GDP ของ SME ติดลบ แต่ตรงกันข้ามธุรกิจขนาดใหญ่ที่เติบโตมา 5-6 ปีหลังรัฐประหารยังเติบโตต่อเนื่อง กำไรดี แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ส่งเสริมทำให้เกิดแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยรวม

คุณหญิงสุดารัตน์ ยังกล่าวถึงเรื่องการทุจริตในเชิงนโยบายที่เอื้อให้กับบางกลุ่มบางทุนขนาดใหญ่นั้น เช่น หลายโครงการใน EEC นอกจากนี้ยังหมายถึงโครงการที่เอื้อทุนใหญ่ที่ไม่เกิดผลในการกระตุ้นการสร้างเศรษฐกิจหรือการสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในภาพรวม เช่น โครงการบัตรประชารัฐ ที่มีการทำการสำรวจหรือการประเมินผลโครงการฯ แล้วหรือไม่ว่าเงินที่ลงไปได้แค่เหมือนเป็นการซื้อเสียงจากประชาชน แต่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดกำลังซื้อ เพราะเงินไปกระจุกอยู่ในบริษัทอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่เท่านั้น

"เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์เตือนอยู่ตลอด แต่รัฐบาลไม่ได้ทำการประเมินผลและวัดผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ ในเชิงเศรษฐกิจ แต่วัดผลในการเพิ่มคนจนเข้ามาเยอะๆ เพิ่มจำนวนคนที่เข้ามาอยู่ในคะแนนนิยม สร้างคะแนนนิบยม แต่ไม่ได้มองว่าเงินที่ลงไปซึ่งเป็นภาษีอาหการทพำให้เกิดการแก้ปัญหาหรือสร้างกำลังซื้อได้หรือไม่ และ EEC ก็จะมีคล้ายๆกันแบบนี้ รวมทั้งบัตรคนจน และชิมช็อปใช้ที่คนก็วิจารณ์เยอะอยู่แล้ว แต่เราจะเจาะลึกลงไป"คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

สำหรับการทุจริตเป็นรายกระทรวงนั้น คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า จะสรุปภายใน 30 วันข้างหน้าก่อนยื่น ขณะนี้มีหลายกระทรวงแต่เนื่องจากอยากอภิปรายฯให้กระชับ จึงจะมีการหารือกันอีกรอบ และบางทีจะตัดให้เหลือกระทรวงน้อยลงเพื่อให้เห็นภาพชัดๆ ไม่สะเปะสะปะ แต่บางเสียงก็เห็นว่ามีการทุจริตทุกย่อมหญ้า

"กำลังอยู่ระหว่าง 2 แนวคิดนี้ ขอหารือกับทีมอีกนิดนึง"คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า หน้าที่ฝ่ายค้านคือดูแลผลประโยชน์ของส่วนรวม ของประเทศชาติ เมื่อเราเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลทำ ทำให้เกิดความเสียหายทั้งด้านทุจริตและด้านการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด เมื่อเกิดความผิดพลาดเราคงปล่อยไปไม่ได้ เราก็ทำหน้าที่ในส่วนของเราในการรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม

ส่วนที่มีการมองกันว่าการอภิปรายฯครั้งนี้คงไม่สามารถล้มรัฐบาลไม่ได้ คุณหญิงสดุรัตน์ กล่าวว่า ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ที่ตั้งเป้าคือแม้ในสภาฯ จะสู้ไม่ได้ถ้าดูจากตัวเลขของสมาชิกแต่ละฝ่าย แต่หลายๆ ครั้งก็มีที่พรรคร่วมรัฐบาลฟังฝ่ายค้านอภิปรายฯ ข้อมูลทุจริตแล้วทนไม่ได้ อาจจะงดออกเสียงให้กับบางคน บางกระทรวงที่ถูกอภิปรายฯ

นอกจากนี้ เสียงของประชาชนที่เสียภาษีจะมีความสำคัญมากกว่า ประชาชนจะได้ทราบว่าสาเหตุที่เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น ทำไมโครงการนี้เป็นแบบนี้ ประชาชนจะได้ทราบว่าเกิดจากความผิดพลาดบกพร่องและล้มเหลวของรัฐบาลอย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ