นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 มีมติให้บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัช จำกัด ส่งมอบทองคำแท่งน้ำหนัก 318 กิโลกรัม ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องในคดีที่ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิด นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร กับพวก ฐานทุจริตเกี่ยวกับการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 แล้วนำไปเก็บรักษาไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการสมอ้างความเป็นเจ้าของในภายหลัง โดยคดีนี้อยู่ในระหว่างอัยการสูงสุดจะพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่ และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีหนังสือแจ้งให้อัยการสูงสุดพิจารณาอุทธรณ์แล้ว
คดีนี้สืบเนื่องจากประมาณปลายปี 2556 สำนักงาน ป.ป.ช.ได้รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหาสรรพากรพื้นที่ กรุงเทพมหานคร 22 ว่ามีการทุจริตเกี่ยวกับการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริงนายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากรกับพวก ฐานทุจริตเกี่ยวกับการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม
ซึ่งจากการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร และนายศุภกิจ ริยะการ สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 ถูกกล่าวหาว่าทุจริตในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ปรากฏข้อเท็จจริงว่า กลุ่มบริษัทที่สำแดงต่อกรมสรรพากรว่า ประกอบธุรกิจรับซื้อสินค้าจำพวกเศษโลหะจากผู้ขายในประเทศ โดยเป็นผู้ประกอบกิจการส่งออกทั่วไปรายใหม่ เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 กรมสรรพากร ทั้งที่ไม่เป็นผู้ประกอบกิจการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีซื้อมาใช้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ขายสินค้าไม่ได้ประกอบกิจการจริง เป็นผู้ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีซื้อ อันเป็นการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จ เมื่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตรวจสอบพบว่า มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวนมากผิดปกติ และปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบของกรมสรรพากร แต่นายสาธิต รังคสิริ กลับสั่งการระงับเรื่องไม่ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ และในทางไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า เงินที่บริษัทดังกล่าวได้รับจากการคืนภาษีจากกรมสรรพากรโดยมิชอบ ได้มีการโอนไปมาระหว่างบริษัทในเครือข่าย และเงินส่วนหนึ่งได้โอนเข้าบัญชีผู้บริหารบริษัท ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัช จำกัด เพื่อซื้อทองคำแท่ง โดยระบุชื่อนายสาธิต รังคสิริ กับพวกเป็นผู้ซื้อในใบจองทองคำจากบริษัท ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัช จำกัด จำนวน 5 ฉบับ คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีคำสั่งลงวันที่ 21 เมษายน 2558 ให้อายัดทองคำแท่งดังกล่าวที่มีการชำระเงินครบถ้วนแล้ว โดยมอบหมายให้ผู้บริหารบริษัท ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัช จำกัด เป็นผู้ครองครองดูแลหรือเก็บรักษาแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. และได้ส่งเรื่องนายสาธิต รังคสิริ ร่ำรวยผิดปกติ ไปยังสำนักตรวจสอบทรัพย์สินดำเนินการต่อไป
โดยเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิดนายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กับพวก ในความผิดอาญาฐานทุจริตในการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม และส่งสำนวนคดีไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป โดยอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นแล้ว และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559 คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิดว่า นายสาธิต รังคสิริ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร ร่ำรวยผิดปกติ และส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน โดยเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำขอบางส่วน โดยวินิจฉัยในส่วนทองคำแท่งตามใบจองทองคำแท่งจำนวน 5 ฉบับดังกล่าวว่า ไม่ใช่ทรัพย์สินของนายสาธิต รังคสิริ ที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ
"มีปัญหาว่า เมื่อศาลพิพากษาว่าทองคำแท่งตามใบจองทองคำแท่งจำนวน 5 ฉบับดังกล่าว ซึ่งมีมูลค่ากว่า 600 ล้านบาทไม่ใช่ทรัพย์สินของนายสาธิต รังคสิริ ที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ และบริษัท ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัช จำกัด ก็ปฏิเสธว่า ทองคำแท่งดังกล่าวไม่ใช่ของบริษัท ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัช จำกัด เพราะมีการชำระเงินค่าทองคำแท่งครบถ้วนแล้วในนามของนายสาธิต รังคสิริ ซึ่งหากสุดท้ายหากไม่สามารถหาเจ้าของที่แท้จริงได้อาจเกิดความเสียหายได้" นายวรวิทย์ กล่าว