น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติรับทราบรายชื่อที่จะเสนอให้เป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของสภาผู้แทนราษฎร ในสัดส่วนของ ครม.จำนวน 6 คน ประกอบด้วย นายปกรณ์ นิลประพันธ์ ว่าที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า, นายกฤช เอื้อวงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง, นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ, นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
และในส่วนของภาคธุรกิจ ได้แก่ คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.ได้ส่งชื่อ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็น 1 ใน 6 โควต้า กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ แต่จะได้เป็นประธาน กมธ.ชุดนี้อย่างที่มีกระแสข่าวว่าได้รับการสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับที่ประชุม กมธ.จะพิจารณาหลังจากมีการแต่งตั้งครบทั้งคณะ
ขณะที่ในระหว่างการประชุม ครม.วันนี้ ไม่ได้มีการหารือเรื่องนี้กับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์มีความประสงค์จะเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรค ลงชิงตำแหน่งประธาน กมธ.ชุดนี้
พร้อมทั้งปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อกรณีที่มีการระบุว่าการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลน่าจะทำได้ในเดือน พ.ค.63 จากเดิมที่คาดว่าฝ่ายค้านเตรียมจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายในช่วงสิ้นปีนี้ โดยพล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "จะเลื่อนหรือไม่เลื่อนก็ไม่มีผลต่อการทำงานของรัฐบาล"
ส่วนกระแสข่าวเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรีที่ดูแลงานด้านเศรษฐกิจนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอให้ไปถามกับนายกรัฐมนตรี อย่ามาถามกับตนเอง แต่ทั้งนี้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เกี่ยวกับที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจมาจากต่างพรรค เพราะได้มีการพูดคุยกันตลอดเวลา ขอให้ไม่ต้องห่วงกับเรื่องนี้