นายสุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกมาชี้แจงถึงการทำหน้าที่ประธานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงที่ผ่านมาว่ามีความเป็นกลาง โดยยึดถือกฎหมายและข้อบังคับการประชุมเป็นสำคัญ
"เนื่องจากมีความไม่เข้าใจเรื่องเกี่ยวกับข้อบังคับการประชุม ข้อ 85 และมีการขยายผลไปตามสื่อสาธารณะต่าง ๆ รวมทั้งการโจมตีท่านประธานสภาโดยปราศจากเหตุผลสมควร" นายสุกิจ กล่าว
สืบเนื่องจากเมื่อวาน (27 พ.ย.) ช่วงหัวค่ำจนถึงวันที่ 28 พ.ย.62 ในการพิจารณาญัตติด่วนในกลุ่มให้ตั้งกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจากประกาศ คำสั่ง และการกระทำของ คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลงได้มีการลงมติว่า เห็นสมควรตั้งกรรมาธิการหรือไม่ ปรากฏว่า เสียงสนับสนุนให้ตั้งกรรมาธิการ 236 เสียง ขณะที่ฝ่ายที่ไม่ตั้งได้ 231 เสียง ห่างกัน 5 เสียง นั่นคือฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวต ฝ่ายรัฐบาลจึงได้มีการเสนอขอมีการนับคะแนนใหม่ โดยอาศัยข้อบังคับ ข้อที่ 85 จึงเกิดบัญหาความไม่เข้าใจต่างๆ ขึ้น
ที่ปรึกษาประธานสภาฯ จึงได้ขอชี้แจงใน 3 ประเด็น คือ 1.การเสนอนับคะแนนใหม่ทำได้หรือไม่ ก็ขอให้ดูข้อบังคับข้อที่ 85 เมื่อมีการออกเสียงลงคะแนนตามข้อ 83(1) (คือการใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนน) แล้ว ถ้าสมาชิกร้องขอให้มีการนับใหม่ โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน ก็ให้มีการนับคะแนนใหม่ เว้นแต่คะแนนเสียงต่างกันเกินกว่า 25 คะแนน จะขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ไม่ได้
"เมื่อวานได้มีผู้เสนอให้นับคะแนนใหม่ และมีผู้รับรองถูกต้อง คือ มากกว่า 20 คน และคะแนนเสียงต่างกัน 5 คะแนน ซึ่งไม่เกิน 25 คะแนน" นายสุกิจ กล่าว
ที่ปรึกษาประธานสภาฯ ชี้แจงต่อในประเด็นที่สอง ที่มีการตั้งข้อสงสัยเรื่องใช้คำว่า "นับคะแนนเสียงใหม่" ว่าเป็นการนำของเดิมมานับใหม่ หรือการให้ลงคะแนนใหม่แล้วนับใหม่
"ตามประเพณีที่ทำสืบต่อกันมา เมื่อมีการเสนอให้นับคะแนนใหม่ ก็คือลงคะแนนกันใหม่ จะใช้วิธีเรียกชื่อเป็นรายบุคคล เช่นเดียวกับข้อบังคับ ข้อ 85 ในครั้งนี้ก็เขียนว่า ก็ให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ และให้เปลี่ยนวิธีการลงคะแนนเป็นวิธีตามข้อ 83(2)" นายสุกิจ กล่าว
โดยข้อ 83 (2) คือ เรียกชื่อสมาชิกตามหมายเลขประจำตัวสมาชิก ให้ออกเสียงลงคะแนน เป็นรายคนตามวิธีที่ประธานกำหนด นั่นคือ ชัดเจนว่าเมื่อให้นับคะแนนใหม่ หมายถึง ให้ลงคะแนนใหม่ด้วยนั่นเอง
"มีคนเอาไปเปรียบเทียบกับการเลือกตั้ง ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะนั่นเป็นข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.เลือกตั้ง" นายสุกิจ กล่าว
ส่วนประเด็นที่สาม ที่กล่าวมาว่าประธานเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้นไม่เป็นความจริง เพราะรัฐธรรนูญ มาตรา 119 บอกบัญญัติไว้ว่า "ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่และอำนาจดำเนินกิจการของสภาให้ไปตามข้อบังคับ" ดังนั้นเมื่อมีการเสนอให้นับคะแนนใหม่ถูกต้องตามข้อบังคับที่ 85 ท่านประธานจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นจะต้องดำเนินการไปตามนั้น
"มีข่าวออกมาไม่ดี ในทำนองว่าประธานสภาทำผิดข้อบังคับ ทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง แต่สิ่งที่ท่านประธานดำเนินการไปนั้น เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมกำหนดไว้ ดังนั้นจะมากล่าวหาท่านประธานว่าวางตัวไม่เป็นกลาง เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้" นายสุกิจ กล่าว