คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่า วันนี้ที่ประชุม กกต.ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง กรณีพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่แล้ว เห็นว่าการที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนาธร เป็นเงินจำนวน 191,200,000 บาท เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 จึงมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560
อนึ่ง มาตรา 72 ระบุว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 92 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
(1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
(2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(3) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74
(4) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกำหนด
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
ส่วนมาตรา 93 เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 92 คณะกรรมการจะยื่นคำร้องเอง หรือจะมอบหมายให้นายทะเบียนเป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดีแทนก็ได้ และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจะขอให้อัยการสูงสุดช่วยเหลือดำเนินการในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะเสร็จสิ้นก็ได้
ในกรณีที่เห็นสมควร ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้พรรคการเมืองระงับการกระทำใดไว้เป็นการชั่วคราวตามคำร้องขอของคณะกรรมการ นายทะเบียน หรืออัยการสูงสุด แล้วแต่กรณี ก็ได้
สำหรับคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ประกอบด้วย
1.นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค
2.นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค
3. นางสาวกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรค
4.นายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรค
5.พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรค
6.นายรณวิต หล่อเลิศสุนทร รองหัวหน้าพรรค
7.น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค
8.นายไกลก้อง ไวทยาการ นายทะเบียนสมาชิกพรรค
9.นายนิติพัฒน์ แต้มไพโรจย์ เหรัญญิกพรรค
10.นายสุนทร บุญยอด กรรมการสัดส่วนเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน
11.นางเยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ กรรมการสัดส่วนภูมิภาค ภาคเหนือ
12.นายสุรชัย ศรีสารคาม กรรมการสัดส่วนภูมิภาค ภาคกลาง
13.นายเจนวิทย์ ไกรสินธุ์ กรรมการสัดส่วนภูมิภาค ภาคใต้
14.นายชัน ภักดีศรี กรรมการในสัดส่วนภูมิภาค ภาคอีสาน
15. น.ส.ศรัณย์เกตุ กรรมการสัดส่วนเลือกตั้งโดยตรงจากที่ประชุมใหญ่
ขณะที่แหล่งข่าวจากพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ต้องมาดูว่าขั้นตอนต่อไปหลังจาก กกต.มีมติให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญจะมีเงื่อนไขเวลาอย่างไร เพราะโดยธรรมเนียมปกติแล้ว กกต.จะใช้เวลายื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วันหลังจากมีมติ และคาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาไต่สวนและพิจารณาราว 3 เดือน แต่หากยกกรณีของการยุบพรรคไทยรักษาชาติก็จะใช้เวลาทั้งการยื่นเรื่องของกกต.และการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญราว 13 วัน
สำหรับ ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ที่มีจำนวน 80 คนนั้น ซึ่งเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 50 คน ในจำนวนนี้เป็นกรรมการบริหารพรรค 11 คน หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคก็จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จะไม่มีการเลื่อนผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับถัดไปขึ้นมาแทน ส่วนจะมีการคำนวณ ส.ส.กันใหม่หรือไม่ ยังไม่ชัดเจน
ด้าน ส.ส.ที่เหลือคาดว่าจะย้ายไปอยู่ไปพรรคใหม่ที่ได้เตรียมจดทะเบียนตั้งไว้แล้วประมาณ 40-50 คน ส่วน ส.ส.ที่เหลือคาดว่าจะกระจัดจายไปตามพรรคการเมืองอื่น โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งพรรคที่เป็นเป้าหมายหลักคือพรรคภูมิใจไทย