รายงานข่าว แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 นัดแรก ซึ่งมีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ที่มีอาวุโสสูงสุดทำหน้าที่ประธานการประชุมชั่วคราวมีมติเลือก นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ตามที่ กมธ.ในสัดส่วนคณะรัฐมนตรีเสนอ
ขณะที่กรรมาธิการในสัดส่วนของ 7 พรรคฝ่ายค้านเสนอชื่อ นายโภคิน พลกุล กมธ.จากพรรคเพื่อไทยลงชิงตำแหน่ง แต่เสียงสนับสนุนไม่เพียงพอ โดยนายพีระพันธุ์ชนะไปด้วยคะแนน 25 ต่อ 19 และมีผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 4 คน ส่วนตำแหน่งรองประธานฯ ยังไม่ลงตัวทำให้นายบัญญัติที่ทำหน้าที่ประธานชั่วคราวสั่งพักการประชุม 15 นาที พร้อมให้ตัวแทนแต่ละฝ่ายไปหารือนอกรอบกับนายพีระพันธุ์
หลังจากนั้นที่ประชุมฯ มีเลือกตำแหน่งรองประธานฯ รวม 7 คน ประกอบด้วย นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นรองประธานคนที่ 1, นายวัฒนา เมืองสุข เป็นรองประธานฯคนที่ 2, นายชำนาญ จันทร์เรือง เป็นรองประธานฯคนที่ 3, นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เป็นรองประธานฯคนที่ 4, นาย วิเชียร ชวลิต เป็นรองประธานฯคนที่ 5, นายสมชัย ศรีสุทธิยากร เป็นรองประธานฯคนที่ 6 และ นายศุภชัย ใจสมุทร เป็นรองประธานฯ คนที่ 7 ส่วนนายทศพล เพ็งส้ม เป็นเลขานุการ ขณะที่โฆษกฯ มีนายสุทิน คลังแสง, นายธนกร วังบุญคงชนะ, นายรังสิมันต์ โรม, นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ และ น.ส.ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังมีมติเลือกตำแหน่งที่ปรึกษาฯ อีก 6 คน ประกอบด้วย นายโภคิน พลกุล, นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง, นายสุทัศน์ เงินหมื่น, นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ และ นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์
ด้านนายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่เข้าร่วมเป็น กมธ.ด้วย กล่าวว่า ได้หารือกับนายมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กกร.) แล้วเห็นว่าควรเข้าร่วมในกรรมาธิการฯ เพื่อแสดงความเห็นในฐานะอดีต กกร.ซึ่งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 โดยมีความตั้งใจจะอธิบายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ฝ่ายที่ต้องการแก้ไขได้รับทราบ
พร้อมยืนยันว่า กมธ.ชุดนี้มีหน้าที่เพียงศึกษาเพื่อหาวิธีการในการแก้ไขเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นต้องลงรายละเอียดว่าจะแก้ไขมาตราใด และการแก้ไขเกี่ยวกับเงื่อนไขในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นยืนยันว่าตามรัฐธรรมนูญนอกจากต้องผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภาแล้ว ยังต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชนด้วยจึงจะสามารถแก้รายมาตรา หรือตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้